xs
xsm
sm
md
lg

บ.ท้องถิ่น-ต่างชาติในเวียดนามคาดใช้เวลาฟื้นตัวหลายเดือน หลังโรงงานคลังสินค้าโดนพายุซัดถล่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - พายุไต้ฝุ่นยางิส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบริษัทในประเทศและต่างประเทศในพื้นที่ภาคเหนือของเวียดนาม ทั้งหลังคาโรงงานที่ถูกกระแสลมซัดปลิวหาย สินค้ามูลค้าหลายล้านดอลลาร์ถูกทำลาย ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก คาดว่าบริษัทเหล่านี้อาจต้องใช้เวลาหลายเดือนในการฟื้นตัว

พายุไต้ฝุ่นที่รุนแรงที่สุดที่พัดถล่มเวียดนามในรอบหลายทศวรรษ ได้สร้างความเสียหายต่อเมืองไฮฟอง เมืองท่าอุตสาหกรรมสำคัญ ก่อนทำให้เกิดฝนตกหนักทั่วภาคเหนือ ศูนย์กลางการผลิตของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก เช่น ซัมซุง และฟ็อกซ์คอนน์

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้พายุทำลายล้างอย่างพายุไต้ฝุ่นยางิ มีแนวโน้มที่จะเกิดได้มากขึ้น ภัยพิบัติครั้งนี้ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการที่เวียดนามพยายามที่จะเป็นทางเลือกอื่นแทนจีนในห่วงโซ่อุปทานโลก เนื่องจากมีความอ่อนไหวสูงและขาดมาตรการบรรเทาผลกระทบ

โรงงานและคลังสินค้าหลายสิบแห่งในเมืองไฮฟองได้รับความเสียหายจากพายุไต้ฝุ่นยางิ ขณะที่บางแห่งใน จ.กว๋างนีง ที่อยู่ติดกัน คาดว่าจะไม่มีไฟฟ้าใช้จนกว่าจะถึงสุดสัปดาห์นี้ ผู้นำธุรกิจเปิดเผยกับเอเอฟพี

“ผมรับประกันได้ว่าความเสียหายมีมูลค่าหลายสิบล้านดอลลาร์ ลูกค้าของเราอย่างน้อย 85% ได้รับความเสียหาย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเขตอุตสาหกรรม DEEP C ที่เป็นที่ตั้งของบริษัท 178 แห่งในพื้นที่อุตสาหกรรม 5 แห่งในเมืองไฮฟอง และ จ.กว๋างนีง กล่าว

หลายบริษัทหลังคาพัง และมีบริษัทหนึ่งพบว่าแผงผนัง 3,000 ตารางเมตร ถูกลมกระโชกแรงซัดหาย

ที่เขตอุตสาหกรรม DEEP C การใช้พลังงานอยู่ที่ 2 ใน 3 ของอัตราปกติ และคาดว่าจะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติไปอีกราว 2-3 เดือน

ประธานหอการค้าเกาหลีในเวียดนามกล่าวกับเอเอฟพีว่าไต้ฝุ่นเป็นภัยพิบัติสำหรับสมาชิกของเขา โดยบางรายต้องดิ้นรนกับการขาดแคลนพนักงาน เนื่องจากน้ำท่วมทำให้คนงานไม่สามารถเดินทางมาที่โรงงานได้

ซัมซุง นักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามระบุว่า บริษัทยังคงดำเนินการตามปกติ แต่คลังสินค้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีอย่างแอลจี อิเล็กทรอนิกส์ ถูกน้ำท่วมเมื่อสัปดาห์ก่อน ทำให้ตู้เย็นและเครื่องใช้ในบ้านอื่นๆ ได้รับความเสียหาย

บริษัทแอลจีเปิดเผยกับเอเอฟพีว่าบริษัทได้กลับมาดำเนินการผลิตสินค้าบางส่วนอีกครั้ง ไม่นานหลังจากพายุผ่านไป และกำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อฟื้นตัวโดยเร็ว

ในบรรดาธุรกิจจากญี่ปุ่นที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่อีกราย ราวครึ่งหนึ่งรายงานว่าได้รับความเสียหายบางอย่าง ในขณะที่อีกราว 70 ราย ระบุว่าธุรกิจของพวกเขาหยุดชะงัก ตามการระบุของผู้แทนจากหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น

น้ำท่วมและดินถล่มจากอิทธิพลของพายุยางิคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 500 คน ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในเวียดนามรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 292 คน

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากร 100 ล้านคนแห่งนี้ มักถูกมองว่าเป็นผู้ได้ประโยชน์หลักจากการแยกห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐฯ และจีน

นักลงทุนได้ขยายกิจการเข้ามาในประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ China plus one และประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนกรุงฮานอยอย่างเป็นทางการเมื่อปีก่อน

ไบเดนได้ยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตเชิงสัญลักษณ์และผลักดันให้เวียดนามเป็นพันธมิตรที่มั่นคงสำหรับกลยุทธ์การย้ายฐานการผลิตห่วงโซ่อุปทานไปยังประเทศที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจเพื่อถอยห่างจากจีน

ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google ผู้ผลิตชิปอย่าง Intel และ GlobalFoundries และบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการบินอย่าง Boeing ได้เข้าร่วมการหารือการลงทุนที่กรุงฮานอยกับไบเดน

อย่างไรก็ตาม เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่เปราะบางที่สุดในโลกต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ และหากไม่มีมาตรการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบ ธนาคารโลกประมาณการว่าเวียดนามจะมีค่าใช้จ่ายราว 12% ถึง 14.5% ของจีดีพีต่อปีภายในปี 2593

การศึกษาเมื่อช่วงต้นปีนี้ระบุว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองไฮฟอง กำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากพายุไต้ฝุ่นที่รุนแรงขึ้นและยาวนานขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

รัฐบาลคอมมิวนิสต์เวียดนามตั้งเป้าที่จะเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2588 แต่ธนาคารโลกระบุว่า ความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

รัฐบาลเวียดนามระบุว่าพายุไต้ฝุ่นยางิก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 1,600 ล้านดอลลาร์ และทำให้การเติบโตของจีดีพีชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี.


กำลังโหลดความคิดเห็น