xs
xsm
sm
md
lg

จีนยืนยันไม่ใช่ตัวการปล่อยน้ำจาก "เขื่อนจิ่งหง" ลงแม่โขง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เขื่อนจิ่งหง (ภาพจาก Global Times)
MGR Online - เขื่อนไฟฟ้าจิ่งหงในมณฑลยูนนาน ยืนยันไม่ได้เป็นตัวการปล่อยน้ำลงแม่น้ำโขงจนทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในหลายเมือง ตรงกันข้าม ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนเป็นต้นมาได้ลดปริมาณการระบายน้ำลงมาถึง 70% เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากพายุยางิ

เช้าวันนี้ (13 ก.ย.) สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว ซึ่งเป็นสื่อทางการของรัฐบาลลาว ได้ออกมาปฏิเสธกระแสข่าวที่ถูกเผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ว่า สาเหตุที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือของลาว รวมถึงประเทศไทย เกิดจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่ถูกสร้างกั้นแม่น้ำหลานซาง หรือแม่น้ำโขงในประเทศจีน ได้ปล่อยน้ำจำนวนมากลงมา

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาวอ้างข้อมูลจากสถานทูตจีนประจำลาว ซึ่งระบุว่า ข่าวดังกล่าวเป็นเพียงข่าวลือ เพราะปริมาณน้ำที่มีมากจนท่วมหลายพื้นที่ เกิดจากฝนที่ตกหนักในช่วงก่อนหน้านี้ ส่วนเขื่อนในจีน นอกจากไม่เพิ่มการปล่อยน้ำลงมาแล้ว ยังได้ลดปริมาณน้ำที่ระบายลงไปท้ายเขื่อนลงด้วย โดยปริมาณน้ำที่ถูกปล่อยออกในช่วงที่ผ่านมา อยู่ในระดับเพียง 30% ของปริมาณน้ำที่เคยระบายออกมาก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ น้ำจากแม่น้ำหลานซางที่ไหลลงมาจากจีน มีสัดส่วนเพียง 13.5% ของปริมาณน้ำทั้งหมดของแม่น้ำโขง ดังนั้น ผลกระทบที่มีต่อปริมาณน้ำที่อยู่ด้านล่างจึงมีจำกัด

หนังสือจากบริษัท Huaneng Lancang River Hydropower ที่ถูกเผยแพร่ผ่านเพจทางการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
วานนี้ (12 ก.ย.) เพจ Mekong River Commission ซึ่งเป็นเพจทางการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ได้เผยแพร่หนังสือยืนยันจากบริษัท Huaneng Lancang River Hydropower ผู้ดำเนินการเขื่อนจิ่งหง เขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,750 เมกะวัตต์ ที่สร้างกั้นแม่น้ำหลานซางในเมืองเชียงรุ่ง เขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน และเป็นเขื่อนในจีนที่อยู่ใกล้ชิดกับแม่น้ำโขงมากที่สุด โดยในหนังสือระบุว่า ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2567 เป็นต้นมา เขื่อนจิ่งหงได้ลดปริมาณการระบายน้ำลงมาเหลือเพียง 1,060 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากเดิมที่เคยระบายออกมา 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือลดการระบายน้ำลงมาถึง 70% จากปริมาณน้ำที่เคยระบายออกมาก่อนหน้านี้

เหตุผลที่ต้องลดปริมาณการระบายน้ำของเขื่อนจิ่งหง เนื่องจากต้องการบรรเทาผลกระทบจากพายุยางิ ที่กำลังทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนักในหลายพื้นที่ซึ่งอยู่ท้ายเขื่อน.


กำลังโหลดความคิดเห็น