เอเอฟพี - ศาลเวียดนามตัดสินจำคุกนักข่าวที่เขียนบทความเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น การทุจริต สิทธิที่ดิน และสิ่งแวดล้อม เป็นเวลา 7 ปี ซึ่งกลายเป็นผู้วิจารณ์รัฐบาลคนล่าสุดที่ถูกจำคุก
เหวียน หวู บิ่ง นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เคยถูกจำคุกเกือบ 5 ปี ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ถูกกล่าวหาว่าผลิตโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐ
เวียดนามไม่มีสื่อเสรีและปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง ประเทศนี้เป็นประเทศที่คุมขังนักข่าวมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ตามข้อมูลขององค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (RSF) กลุ่มรณรงค์เสรีภาพสื่อ
“เขาถูกตัดสินจำคุก 7 ปี ในการพิจารณาคดี เขากล่าวกับศาลว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ เขาบอกว่าเขาไม่ได้เรียกร้องให้ใครต่อต้านรัฐ เขากล่าวว่าเขากำลังใช้สิทธิเสรีภาพในการพูด” น้องสาวของเหวียน หวู บิ่ง กล่าวกับเอเอฟพีหลังการพิจารณาคดีในกรุงฮานอย
นักวิเคราะห์กล่าวว่าทางการเวียดนามได้ยกระดับการปราบปรามผู้เห็นต่างในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
“เหวียน หวู บิ่ง รณรงค์อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในเวียดนาม การแสดงออกถึงความเห็นต่างทางการเมืองอย่างสันติไม่ใช่อาชญากรรม” ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว
บิ่ง วัย 55 ปี ถูกจับกุมเมื่อปลายเดือน ก.พ. วันเดียวกับเหวียน จิ เตวียน ยูทูปเบอร์ และนักรณรงค์ที่พูดเกี่ยวกับปัญหามลพิษและสิทธิที่ดิน
เมื่อเดือนที่ผ่านมา เตวียนถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานจัดทำ จัดเก็บ และเผยแพร่ข้อมูล เอกสาร และวัสดุต่อต้านสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 5 ปี
บิ่งเป็นนักข่าวให้กับวารสารของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามอยู่ 10 ปี ก่อนจะลาออกในปลายปี 2543 และพยายามจัดตั้งพรรคการเมืองอิสระ เขาถูกจำคุกระหว่างปลายปี 2546 ถึงเดือน มิ.ย.2550 ในข้อหาจารกรรม
หลังได้รับการปล่อยตัว บิ่งเขียนบล็อกให้กับสำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีเกี่ยวกับการทุจริต สิทธิที่ดิน สิ่งแวดล้อม และความสัมพันธ์ของเวียดนามกับจีนและสหรัฐฯ
บิ่งได้รับทุนถึงสองครั้งจาก Hellman/Hammett ซึ่งมอบให้กับเหยื่อของการข่มเหงทางการเมืองในปี 2545 และปี 2550
ระหว่างเดือน ส.ค.-ก.ย. ทางการเวียดนามได้ตัดสินโทษกับนักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 7 คน ด้วยเหตุผลเดียวกัน ตามการระบุของฮิวแมนไรท์วอชท์
ปัจจุบัน มีนักเคลื่อนไหว 175 คน ถูกจำคุกในประเทศ ตามข้อมูลของ The 88 Projects องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่มุ่งเน้นเวียดนาม
เวียดนามถูกจัดอยู่ในอันดับ 174 จาก 180 ประเทศ ในดัชนีเสรีภาพสื่อโลกของ RSF
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการปราบปรามการทุจริตอย่างกว้างขวาง ที่ทำให้เจ้าหน้าที่และผู้นำทางธุรกิจจำนวนมากถูกไล่ออก หรือถูกจำคุก.