MGR ออนไลน์ - พายุยางิ (Yagi) อาจทวีกำลังกลายเป็น “ซูเปอร์สตอร์ม” ในวันศุกร์นี้ (6) ที่ความเร็วลมอาจสูงถึง 201 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามการคาดการณ์ของหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาหลายแห่ง
ในการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมรับมือพายุยางิ มาย วัน เคียม ผู้อำนวยการศูนย์อุทกวิทยาและอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ กล่าวว่า พายุอยู่ห่างจากเกาะไหหลำของจีนประมาณ 710 กิโลเมตร เมื่อเวลา 14.00 น. พายุมีกำลังแรงขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า โดยมีความเร็วลมสูงสุดที่ 183 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นักอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าพายุยางิจะทวีความรุนแรงขึ้นอีกในอีก 48 ชั่วโมงข้างหน้า ขณะเคลื่อนเข้าใกล้เกาะไหหลำมากขึ้น ที่เป็นผลจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยอื่นๆ
มาย วัน เคียม กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญกำลังติดตามพัฒนาการของพายุอย่างใกล้ชิดเพื่อพิจารณาว่าควรจัดพายุลูกนี้เป็นซูเปอร์สตอร์มหรือไม่
เคียมเตือนว่าถ้าพายุยางิมีความรุนแรงสูงสุดและเข้าใกล้พื้นที่ชายฝั่งของเวียดนาม อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชีวิต ปศุสัตว์ และสิ่งแวดล้อม คาดว่าผลกระทบของพายุจะแผ่กระจายเป็นวงกว้าง และอาจส่งผลร้ายแรงและยาวนาน
หน่วยงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นได้จัดให้พายุยางิเป็นพายุเฮอริเคนแล้ว โดยคาดการณ์ว่าจะมีความเร็วลมที่ 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายในวันศุกร์ (6) ส่วนนักอุตุนิยมวิทยาฮ่องกงคาดการณ์ว่าพายุจะทวีความรุนแรงเป็นซูเปอร์สตอร์ม ด้วยความเร็วลม 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่บริการอุตุนิยมวิทยาของกองทัพเรือสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าความเร็วลมของพายุยางิอาจแรงถึง 214 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนที่จะเข้าใกล้เกาะไหหลำ
เคียมกล่าวว่าทิศทางของพายุยางิจะกำหนดว่าพายุจะขึ้นฝั่งเวียดนามหรือไม่ ในกรณีเลวร้ายที่สุด รูปแบบลมของพายุยางิอาจปกคลุมพื้นที่ราบทางตอนเหนือทั้งหมด ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพื้นที่ เช่น กรุงฮานอย และ จ.บั๊กนีง
เหวียน ฮว่าง เหียบ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทกล่าวว่า เวียดนามไม่เคยได้รับผลกระทบจากพายุรุนแรงเช่นนี้มาก่อน
“พื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนามตอนเหนือ ทั้งในด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ความประมาทอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้” รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตร กล่าว
เล มีง ฮวาน รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ได้เรียกร้องให้หน่วยงานท้องถิ่นวางแผนเชิงรุกเพื่อบรรเทาความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น โดยเขาเสนอว่ามาตรการต่างๆ เช่น ห้ามออกเรือ ห้ามรวมกลุ่มขนาดใหญ่ และใช้ค่ายทหารเป็นศูนย์อพยพ ควรถูกนำมาพิจารณา
ในการตอบสนองต่อภัยคุกคามที่กำลังใกล้เข้ามา กองกำลังรักษาชายแดนได้สั่งให้เรือ 504 ลำ และคนงานกว่า 3,300 คน ในพื้นที่เสี่ยงหาที่หลบภัย.