xs
xsm
sm
md
lg

"แบงก์ชาติลาว" ปรับดอกเบึ้ยเป็น 10.5% สั่งเพิ่มสำรองเงินฝากสกุลต่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ลาวปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานระยะ 7 วัน สกุลเงินกีบ
MGR Online - กรรมการนโยบายเงินตรา สปป.ลาว ประเมินสภาพเศรษฐกิจลาวยังต้องเผชิญหลายแรงท้าทายที่กดดันค่าเงินกีบและอัตราเงินเฟ้อ ประกาศ 4 มาตรการรับมือ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยพื้นฐาน สั่งธนาคารพาณิชย์เพิ่มสำรองเงินฝากสกุลต่างประเทศ เร่งเปิดตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราแบบรวมศูนย์ และเชื่อมระบบชำระเงินกับเพื่อนบ้าน

นายพานุสัก แก่นวงพะจัน หัวหน้าสำนักงาน ธนาคารแห่ง สปป.ลาว แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเงินตรา ครั้งที่ 2/2024 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 22 สิงหาคม 2567 มีนางวัดทะนา ดาลาลอย รักษาการผู้ว่าการ ธนาคารแห่ง สปป.ลาว เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้มีการประเมินสภาพเศรษฐกิจ การเงิน และการดำเนินนโยบายเงินตรา ในระยะ 8 เดือนแรกของปี 2567 และกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายเงินตราช่วง 4 เดือน ที่เหลือของปีนี้

ที่ประชุมได้ประเมินว่า 8 เดือนแรกของปี 2567 เศรษฐกิจของลาวยังคงเผชิญหน้ากับสิ่งท้าทายหลายด้าน ทั้งจากปัญหาการเงินทั่วโลก เนื่องจากสหรัฐอเมริกายังรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูง 5.5% ทำให้สกุลเงินหลักของโลกหลายสกุลยังคงมีความผันผวนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ โดยเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าลงเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงเศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญกับหลายความยุ่งยาก ทั้งความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาทองคำ

นายพานุสัก แก่นวงพะจัน หัวหน้าสำนักงาน ธนาคารแห่ง สปป.ลาว
นายพานุสัก กล่าวว่า แม้ว่า 6 เดือนแรกของปี 2567 GDP ของลาวขยายตัวได้ในระดับ 4.7% แต่เกิดจากปัจจัยการบริโภคภาคภายในของเอกชนเป็นหลัก เศรษฐกิจของลาวยังอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกได้ง่าย และยังไม่มีความสมดุลด้านเงินตราต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ชำระการนำเข้าสินค้า บริการ และหนี้สินต่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนยังอ่อนไหว และอัตราเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมยังคงสูงอยู่ที่ระดับ 26.1%

ดังนั้น ที่ผ่านมา ธนาคารแห่ง สปป.ลาว จึงได้ดำเนินนโยบายเงินตราในทิศทางที่รัดกุม โดยได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานระยะ 7 วัน ของธนาคารแห่ง สปป.ลาว สกุลเงินกีบ จาก 8.5% ต่อปี เป็น 10% ต่อปี ปรับโครงสร้างอัตราสำรองของเงินฝากภาคบังคับสกุลเงินกีบ และมีการจำหน่ายพันธบัตรของธนาคารแห่ง สปป.ลาว ระยะ 7 วัน 3 เดือน และ 6 เดือน

พร้อมกันนั้น ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ได้เดินหน้าดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนตามกลไกตลาดที่มีการควบคุมของรัฐ โดยกำหนดอัตราอ้างอิงให้ธนาคารพาณิชย์ต้องซื้อขายเงินตราต่างประเทศในกรอบบวกหรือลบไม่เกิน 7.5% จากอัตราอ้างอิง และขยายส่วนต่างระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของบางสกุลเงิน จากไม่เกิน 2% มาเป็นไม่เกิน 5% พร้อมเน้นสนองเงินตราต่างประเทศแก่สินค้าที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าจำเป็นในการดำรงชีวิต

องค์ประกอบการขยายตัวของเศรษฐกิจลาว
ส่วนการประเมินภาวะเศรษฐกิจการเงินในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปี 2567 ที่ประชุมเห็นว่า ยังคงต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายอีกหลายด้าน ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจโลก เช่น ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาทองคำ ที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศคาดว่าจะขยับเข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่คาดไว้ ทำให้ธนาคารกลางของประเทศชั้นนำหลายประเทศมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปลายปี 2567

ขณะที่เศรษฐกิจลาวยังมีแรงกดดันจากภายใน เช่น คาดว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวจากปัจจัยการบริโภคภายในเป็นหลัก มีการขาดดุลการค้า และมีพันธะต้องชำระหนี้สินต่างประเทศ ทำให้ยังไม่มีความสมดุลระหว่างความต้องการและการสนองเงินตราต่างประเทศ ส่วนภาคธนาคารพาณิชย์เอง การให้สินเชื่อยังมีการขยายตัว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ เป็นแรงกดดันต่อค่าเงินกีบ และอัตราเงินเฟ้อ

องค์ประกอบของอัตราเงินเฟ้อลาว
ฉะนั้น ธนาคารแห่ง สปป.ลาว จึงมีความจำเป็นจะต้องเดินหน้าดำเนินนโยบายเงินตราในทิศทางที่รัดกุมมากขึ้น โดยคณะกรรมการนโยบายเงินตรา มีมติดังนี้

1.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานระยะ 7 วัน ของธนาคารแห่ง สปป.ลาว สกุลเงินกีบ จาก 10% เป็น 10.5%
2.ขยายอัตราสำรองเงินฝากภาคบังคับ สกุลเงินตราต่างประเทศ จาก 10% เป็น 11%
3.เดินหน้าดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนตามกลไกตลาดภายใต้การควบคุมของรัฐด้วยการเร่งเปิดตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแบบรวมศูนย์
4.เดินหน้ามาตรการควบคุมเงินตราต่างประเทศและพัฒนาระบบชำระสะสางให้เชื่อมโยงกันระหว่างธนาคารภายในประเทศเอง และสามารถเชื่อมโยงกับธนาคารของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมและผลักดันการใช้เงินกีบ.

ค่าเงินกีบเทียบกับเงินบาท

ขยายสัดส่วนเงินสำรองภาคบังคับ เงินฝากสกุลต่างประเทศ

LAO QR หนึ่งในการพัฒนาระบบชำระสะสางให้เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน




กำลังโหลดความคิดเห็น