xs
xsm
sm
md
lg

หน่วยงานด้านสิทธิหวั่นสถานการณ์สู้รบในรัฐยะไข่ ทำโรฮิงญาเผชิญชะตากรรมซ้ำรอยปี 60

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้แสดงความห่วงใยต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาของพม่า หลังมีรายงานผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการสู้รบเมื่อไม่นานนี้ระหว่างกองกำลังของรัฐบาลทหารและกองทัพอาระกัน (AA)

คำแถลงจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเจนีวา ระบุว่า โวลเกอร์ เติร์ก มีความรู้สึกวิตกกังวลอย่างยิ่งและเป็นห่วงสถานการณ์ที่เลวร้ายลงอย่างรวดเร็วในพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐยะไข่ ที่มีรายงานว่าพลเรือนหลายร้อยคนเสียชีวิตขณะพยายามหลบหนีการสู้รบ

หน่วยงานของเขากล่าวว่า ทั้งกองทัพพม่าและกองทัพอาระกัน ที่ปัจจุบันควบคุมเมืองส่วนใหญ่ของรัฐยะไข่ ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อชาวโรฮิงญา รวมทั้งการวิสามัญฆาตกรรม บางครั้งเกี่ยวกับการฆ่าตัดศีรษะ การลักพาตัว และบังคับเกณฑ์ทหาร การทิ้งระเบิดถล่มเมืองและหมู่บ้านอย่างไม่เลือกด้วยโดรนและปืนใหญ่ และการวางเพลิง

คำแถลงอ้างถึงการโจมตีเมื่อวันที่ 5 ส.ค. บริเวณแม่น้ำนาฟ ที่เป็นพรมแดนกับบังกลาเทศ ที่มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน รวมถึงโดรนติดอาวุธ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบการโจมตีดังกล่าว

ในช่วงเวลาดังกล่าว สำนักข่าวเอพีรายงานว่ามีชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 150 คน อาจเสียชีวิตจากการโจมตีด้วยปืนใหญ่และโดรน และอ้างผู้รอดชีวิตที่เชื่อว่าการโจมตีดังกล่าวเป็นฝีมือของกองทัพอาระกัน

กองทัพอาระกัน ที่เป็นกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ยะไข่ของรัฐ ปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการโจมตีชาวโรฮิงญาที่กำลังหลบหนีการสู้รบในเมืองหม่องดอ ที่กองทัพอาระกันพยายามเข้ายึดจากกองทัพ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีรายงานอีกหลายชิ้นกล่าวโทษกองทัพอาระกัน

กลุ่มกองโจรสนับสนุนประชาธิปไตยและกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ รวมถึงกองทัพอาระกันกำลังต่อสู้เพื่อขับไล่ผู้ปกครองทหารของประเทศนับตั้งแต่พวกเขาเข้ายึดอำนาจในปี 2564 จากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจี

อย่างไรก็ตาม การสู้รบในรัฐยะไข่ได้ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา ที่เป็นชนกลุ่มน้อยจะเกิดขึ้นอีกครั้ง

ในปี 2560 ปฏิบัติการปราบปรามการก่อความไม่สงบได้ขับไล่ชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 740,000 คน ไปบังกลาเทศ โดยโรฮิงญาเกือบทั้งหมดยังคงอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแออัด ไม่สามารถเดินทางกลับพม่าได้เนื่องจากความไม่มั่นคงที่ยังดำเนินอยู่ ศาลระหว่างประเทศกำลังสอบสวนว่าการกระทำของกองทัพในปี 2560 เข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่

ด้านเลขาธิการสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่ต่อสู้ในประเทศยุติความรุนแรงทันทีและปกป้องพลเรือน

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส กล่าวว่าชาวโรฮิงญาประมาณ 1 ล้านคน กำลังหลบภัยอยู่ในบังกลาเทศ โดยไม่มีแนวโน้มที่จะได้เดินทางกลับพม่าในเร็วๆ นี้ โฆษกเลขาธิการสหประชาชาติระบุ

ชาวโรฮิงญาจำนวนมากอาศัยอยู่ในพม่ามาหลายชั่วอายุคน แต่เผชิญกับอคติและถูกปฏิเสธสิทธิในการเป็นพลเมือง และสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ ในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

องค์การนิรโทษกรรมสากลระบุว่าการโจมตีที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาคล้ายกับความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในเดือน ส.ค.2560

โจ ฟรีแมน นักวิจัยด้านพม่า กล่าวว่าเวลานี้ พลเรือนโรฮิงญาอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นในรัฐยะไข่ และเสริมว่ากองทัพพม่าได้เกณฑ์ชาวโรฮิงญาให้เข้าร่วมรบในฝ่ายของตน

ฟรีแมนเรียกร้องให้กองทัพพม่ายุติปฏิบัติการความรุนแรงและหลีกเลี่ยงการโจมตีพลเรือนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังเตือนถึงความรุนแรงในรัฐยะไข่

“ทั้งสองฝ่ายต่างใช้ถ้อยคำที่แสดงความเกลียดชัง การโจมตีพลเรือน และวางเพลิงเผาบ้านเพื่อขับไล่ผู้คนออกจากบ้านเรือนและหมู่บ้าน ที่ทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดการกวาดล้างชาติพันธุ์” เอเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าว

คำแถลงร่วมจากกลุ่มสนับสนุนโรฮิงญาระบุว่า มีชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 200 คน ถูกสังหารในวันที่ 5 ส.ค. ในเหตุการณ์ที่เรียกว่าการสังหารหมู่ที่แม่น้ำนาฟ และยังกล่าวโทษกองทัพอาระกัน

ชาวโรฮิงญาที่เหลือในเมืองหม่องดอติดอยู่ในการสู้รบรุนแรงและต้องการการคุ้มครองระหว่างประเทศและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน คำแถลงที่ได้รับการสนับสนุนจากลุ่มนักเคลื่อนไหวมากกว่า 100 กลุ่มระบุ.
กำลังโหลดความคิดเห็น