MGR ออนไลน์ - การลงทุนจากต่างประเทศในพม่าลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ปีครึ่ง นับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตามการระบุของเจ้าหน้าที่และผู้สังเกตการณ์ ขณะที่บริษัทต่างๆ กำลังพิจารณาความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในประเทศที่กำลังเผชิญกับสงครามกลางเมืองแห่งนี้
เศรษฐกิจของพม่าตกต่ำอย่างรวดเร็วตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 โดยหดตัวลงเกือบ 20% ตามข้อมูลของธนาคารโลก และคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี 2567 ลดลงครึ่งหนึ่งเหลือ 1% โดยส่วนใหญ่เกิดจากความขัดแย้งที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวางและการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาลทหาร
นักลงทุนพากันอพยพ โดยอ้างถึงความไม่มั่นคงทางการเมือง อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ความยากลำบากในการทำธุรกรรมของธนาคาร ความท้าทายในการจัดหาวัตถุดิบ และกำลังคนไม่เพียงพอ เป็นเหตุผลในการลดการดำเนินการหรือออกจากพม่า
ตามคำแถลงอย่างเป็นทางการของหน่วยงานกำกับดูแลด้านการลงทุนและการจัดตั้งบริษัทของพม่าระบุว่า การลงทุนจากต่างประเทศมีมูลค่าเพียง 150 ล้านดอลลาร์ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 เทียบกับการลงทุน 2,900 ล้านดอลลาร์ ที่ไหลเข้าสู่พม่าในช่วง 3 ปี ระหว่างปี 2564-2567
ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการลดลงของเงินทุนเมื่อเทียบกับการลงทุนจากต่างประเทศมูลค่า 3,800 ล้านดอลลาร์ในปี 2563 เพียงปีเดียว ซึ่งเวลานั้นประเทศอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของอองซานซูจี
บริษัท Semcorp ของสิงคโปร์ เป็นหนึ่งในบริษัทล่าสุดที่ลดการดำเนินงานในพม่าเมื่อวันที่ 12 ส.ค. ที่บริษัทประกาศปิดโรงไฟฟ้าชั่วคราว ที่ตั้งอยู่ในเมืองมยินจาน ภาคมัณฑะเลย์ โดยอ้างถึงข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย
และเช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 28 พ.ค. บริษัท CJ Feed Myanmar ของเกาหลีใต้ ประกาศระงับการผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ของโรงงานในนครย่างกุ้ง เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ
นักธุรกิจพม่ารายหนึ่งกล่าวกับสำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีว่า การควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าตของรัฐบาลทหารทำให้บริษัทต่างชาติดำเนินธุรกิจได้ยาก
“อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์ไม่แน่นอนเนื่องจากเงินเฟ้อ การควบคุมเงินดอลลาร์ของธนาคารกลาง ด้วยอัตราคงที่ที่ 2,100 จ๊าต เป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับบริษัทต่างชาติ” นักธุรกิจ กล่าว
รัฐบาลทหารกำลังเพิ่มการปราบปรามผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราในตลาดมืด เนื่องจากพวกเขาเก็บเงินตราต่างประเทศที่จำเป็นไว้นอกระบบธนาคารอย่างเป็นทางการ ที่ประชาชนและบริษัทต่างๆ ถูกบังคับให้แปลงเงินจ๊าตด้วยอัตราแลกเปลี่ยนต่ำ
ในภาคการธนาคารอย่างไม่เป็นทางการของพม่าที่เรียกว่าฮุนดี้ หนึ่งดอลลาร์สหรัฐ มีค่ามากกว่า 6,000 จ๊าต
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญต่อการลงทุนจากต่างประเทศ คือความขัดแย้งที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ตามการระบุของอ่อง ทู นาย สมาชิกของสถาบันคลังสมอง ISP-Myanmar
“สภาพแวดล้อมปัจจุบันในพม่าไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจอย่างราบรื่น ข้อกังวลสำคัญคือการลงทุนในพม่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันมีความเสี่ยงทางการเมืองอย่างมาก” อ่อง ทู นาย ระบุ
ขณะเดียวกัน นโยบายการลงทุนของรัฐบาลทหารยังไม่ชัดเจน ทำให้ไม่แน่นอนว่าควรมีส่วนร่วมกับใคร
เมื่อเดือนที่ผ่านมา สื่อในไทยรายงานว่าบริษัทของไทยที่มีการลงทุนมูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์ ได้ถอนตัวออกจากพม่าเนื่องจากความตึงเครียดต่อเนื่องระหว่างรัฐบาลทหารและฝ่ายต่อต้านติดอาวุธ
และรายงานของนิกเกอิ เอเชีย ของญี่ปุ่น ระบุเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าธุรกิจจำนวนมากในพม่าได้ย้ายไปที่ไทยเนื่องจากความขัดแย้ง
เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่างประเทศของรัฐบาลทหาร กล่าวว่าไม่น่าจะมีการลงทุนใหม่เกิดขึ้น
“การลงทุนจากต่างประเทศแทบจะไม่มีเลยภายใต้สถานการณ์ในปัจจุบัน ธุรกิจที่มีอยู่เดิมอาจย้ายออก ซึ่งความเป็นไปได้ของการย้ายออกนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง”
เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทต่างๆ มีความยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะหาเหตุผลสนับสนุนการลงทุนในพม่า เมื่อพวกเขาสามารถทำเช่นนั้นได้ในที่อื่นในภูมิภาค ที่สถานการณ์ทางการเมืองมีเสถียรภาพมากกว่า
นักวิเคราะห์เศรษฐกิจกล่าวกับสำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีว่า รัฐบาลทหารขาดแนวคิดที่มุ่งเน้นธุรกิจ
“ถ้าเศรษฐกิจได้รับการบริหารจัดการโดยรัฐบาลที่มีความเข้าใจอย่างชัดเจนถึงแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศน่าจะดีขึ้น” นักวิเคราะห์ กล่าว
หลังการรัฐประหารในปี 2564 บริษัทตะวันตกส่วนใหญ่ถอนตัวออกจากพม่า
ตามรายงานที่เผยแพร่โดย ISP-Myanmar ในปลายปี 2565 จาก 52 ประเทศ ที่มีบริษัทดำเนินธุรกิจในพม่า มี 39 ประเทศหยุดการลงทุน
นักลงทุนต่างชาติหลักในพม่าเวลานี้เป็นบริษัทที่มีฐานอยู่ในสิงคโปร์ จีน และไทย และใน 12 ภาคส่วนการลงทุนจากต่างประเทศ ภาคพลังงาน ก๊าซธรรมชาติ และการผลิตน้ำมัน ดึงดูดการลงทุนมากที่สุด.