รอยเตอร์ - กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศว่าจะยังคงจัดให้เวียดนามเป็นประเทศเศรษฐกิจไม่ใช่ตลาดต่อไป การตัดสินใจที่สร้างความผิดหวังให้ฮานอย ที่สหรัฐฯ พยายามกระชับความสัมพันธ์เพื่อต่อต้านจีน
เวียดนามพยายามที่จะยกระดับสถานะดังกล่าวมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งจะช่วยปรับลดภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดที่เรียกเก็บกับประเทศที่มีเศรษฐกิจไม่ใช่ตลาด ซึ่งมีเพียง 12 ประเทศ ที่ถูกวอชิงตันระบุว่าเป็นเศรษฐกิจที่ไม่ใช่ตลาด รวมถึงจีน รัสเซียเกาหลีเหนือ และอาเซอร์ไบจาน
ผู้ผลิตเหล็กกล้า ผู้เลี้ยงกุ้ง เกษตรกรผู้ผลิตน้ำผึ้ง และสมาชิกสภาคองเกรสที่เป็นตัวแทนของพวกเขา คัดค้านการเปลี่ยนแปลงสถานะของเวียดนาม ขณะที่ผู้ค้าปลีกและกลุ่มธุรกิจอื่นบางกลุ่มให้การสนับสนุน
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุในคำแถลงหลังตรวจสอบมาเป็นเวลานาน 1 ปี ว่ากระทรวงได้ประกาศการตัดสินใจว่าเวียดนามจะยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่ไม่ใช่ตลาดต่อไป เพื่อวัตถุประสงค์ในการคำนวณภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดของสหรัฐฯ สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากเวียดนาม
“ข้อค้นพบนี้หมายความว่าระเบียบวิธีที่ใช้ในการคำนวณภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดของสหรัฐฯ สำหรับสินค้านำเข้าจากเวียดนามยังคงเหมือนเดิม” กระทรวงระบุ
ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม กล่าวว่า การยกระดับเวียดนามจะเป็นการดำเนินการที่เป็นธรรม
“เวียดนามเสียใจที่แม้เศรษฐกิจของเวียดนามได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นในช่วงไม่นานนี้ แต่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังคงไม่ยอมรับเวียดนามในฐานะประเทศเศรษฐกิจแบบตลาด” กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าระบุในคำแถลง
เวียดนามโต้แย้งมานานว่าควรได้รับการปลดป้ายประเทศเศรษฐกิจที่ไม่ใช่ตลาด เนื่องจากการปฏิรูปเศรษฐกิจเมื่อไม่นานนี้ และยังกล่าวว่าการคงสถานะดังกล่าวไม่ส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้น ที่วอชิงตันมองว่าเป็นการถ่วงดุลกับจีน
ฝ่ายที่คัดค้านต่อต้านการยกระดับโต้แย้งว่า นโยบายของฮานอยไม่สอดคล้องกับการกระทำที่เป็นรูปธรรม และฮานอยดำเนินการเศรษฐกิจแบบวางแผนที่ควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์ พวกเขากล่าวว่าเวียดนามกำลังถูกใช้เป็นศูนย์กลางการผลิตของบริษัทจีนมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดการนำเข้าจากจีนของสหรัฐฯ
บันทึกข้อความของกระทรวงพาณิชย์ความยาว 284 หน้า อธิบายถึงการตัดสินใจ โดยระบุว่าการตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นแม้ว่าเวียดนามจะมีการปฏิรูปและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าประทับใจ
วอชิงตันทำงานอย่างหนักเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดขึ้นกับเวียดนาม ท่ามกลางการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ที่มากขึ้นกับจีน แต่ขณะเดียวกัน ประเด็นว่าควรยกระดับเวียดนามหรือไม่นั้น เป็นเรื่องน่าอึดอัดใจ เนื่องจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ กำลังใกล้เข้ามาในเดือน พ.ย. และคำกล่าวอ้างของแต่ละฝ่ายว่าพวกเขาสนับสนุนสิทธิแรงงาน
นักวิเคราะห์บางคนกล่าวก่อนที่จะมีการประกาศครั้งนี้ว่า การไม่ยกระดับเวียดนามอาจส่งผลเชิงลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และเวียดนาม
“ผู้นำเวียดนามมองว่าการตัดสินใจครั้งนี้เป็นเกณฑ์สำคัญในการปรับปรุงความสัมพันธ์ของพวกเขากับสหรัฐฯ และความสำเร็จของการกลับสู่ระดับปกติระหว่างสองประเทศ” เอ็ดมันน์ มาเลสกี้ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง กล่าว
เมอร์เรย์ ฮีเบิร์ต ผู้ช่วยอาวุโสของโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษาการต่างประเทศของวอชิงตัน เรียกการตัดสินใจนี้ว่าไร้สาระ
“ตลาดของเวียดนามมีความเสรีเช่นเดียวกับตลาดอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในรายชื่อ NME” ฮีเบิร์ตกล่าว และเสริมว่าการตัดสินใจนี้ดูไม่สอดคล้องกับการเยือนฮานอยของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อปีก่อน ที่สองฝ่ายยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ครอบคลุม
เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังยกให้เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางในการย้ายห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ ออกจากจีน
นาซัค นิคาทาร์ อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาลทรัมป์ ที่ปัจจุบันทำงานให้บริษัทกฎหมาย กล่าวว่า การตัดสินใจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นหลักฐานมากมายจากกลุ่มอุตสาหกรรม ที่เศรษฐกิจของเวียดนามไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในระดับที่ควรได้รับการปฏิบัติในฐานะเศรษฐกิจตลาด
“การเพิกเฉยต่อความบิดเบือนในเศรษฐกิจของคู่ค้า ถือเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม และส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ” นิคาทาร์กล่าว.