xs
xsm
sm
md
lg

ยูเนสโกแนะลาว-กัมพูชาเชิญทีมตรวจสอบลงพื้นที่แหล่งมรดกโลก คลายปมปัญหาสร้างเขื่อน-บังคับไล่ที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - หน่วยงานด้านวัฒนธรรมของสหประชาชาติแนะนำให้ลาวเชิญคณะผู้ตรวจสอบไปยังเมืองหลวงพระบาง แหล่งมรดกโลก ที่โครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่าเมืองหลวงพระบางอาจสูญเสียสถานะมรดกโลก

ขณะที่คณะกรรมการมรดกโลกยินดีกับความพยายามของลาวในการปรับปรุงการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเขื่อน และบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับแหล่งมรดกโลก ทางคณะกรรมการยังแนะนำให้ลาวเชิญทีมผู้เชี่ยวชาญชุดใหม่เข้าประเมินสถานะของการอนุรักษ์ด้วยตนเอง

ลาวดูเหมือนจะเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว โดยคณะผู้แทนของลาวได้กล่าวกับคณะกรรมการในการประชุมประจำปีที่กรุงนิวเดลีว่าทางการลาวพร้อมที่จะทำงานร่วมมือกับยูเนสโกเพื่ออนุรักษ์แหล่งมรดกโลก

เมืองหลวงพระบางได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโกในปี 2538 จากสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างลาวและฝรั่งเศสในยุคอาณานิคมบนพื้นที่ที่แม่น้ำโขง และแม่น้ำคานมาบรรจบกัน

เขื่อนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่กำลังก่อสร้างอยู่เหนือน้ำขึ้นไปราว 25 กิโลเมตร และการเปลี่ยนแปลงของการไหลของแม่น้ำโขงทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อพื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้รับการคุ้มครองและริมฝั่งแม่น้ำของเมือง

เขื่อนกำลังก่อสร้างใกล้กับแนวรอยเลื่อนที่ยังมีพลัง แม้ว่าการศึกษาการออกแบบจะสรุปว่าเขื่อนี้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ แต่ชาวบ้านจำนวนมากกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเขื่อนพัง และปล่อยกำแพงน้ำ

นอกจากนี้ ยูเนสโกยังมีความกังวลเกี่ยวกับการปกป้องอาคารประวัติศาสตร์ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างเขื่อน

ในความเคลื่อนไหวที่คล้ายกัน คณะกรรมการได้แนะนำให้กัมพูชาเชิญทีมผู้เชี่ยวชาญชุดใหม่เข้าตรวจสอบสถานการณ์ที่แหล่งโบราณคดีเมืองพระนครของยูเนสโก ที่เป็นหนึ่งในแหล่งโบราณคดีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ความพยายามของทางการในการโยกย้ายผู้คนได้ก่อให้เกิดข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากองค์การนิรโทษกรรมสากลและองค์กรอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของยูเนสโกดังกล่าวถูก Save Cambodia กลุ่มสิทธิมนุษยชนที่มีฐานอยู่ในสหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์ว่าดำเนินการน้อยเกินไป

“แม้ภารกิจตรวจสอบจะถือเป็นก้าวเล็กๆ ที่น่ายินดี แต่ยังคงห่างไกลจากสิ่งที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหาหลัก” มอร์ตัน สการ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของกลุ่มระบุ

“ปัญหาหลักคือข้อตกลงแหล่งมรดกโลกนครวัดถูกละเมิดทุกครั้งที่มีการโยกย้ายผู้คนที่อยู่อาศัยจากหมู่บ้านดั้งเดิม และยูเนสโกมีส่วนรู้เห็นในการละเมิดเหล่านี้จากการไม่ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขการบังคับไล่ที่” มอร์ตัน สการ์ ระบุ

แหล่งโบราณสถานเมืองพระนครกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ 400 ตารางกิโลเมตรในตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา ประกอบด้วยซากปรักหักพังของเมืองหลวงอาณาจักรขอมตั้งแต่ศตวรรษที่ 9-15 รวมทั้งปราสาทนครวัด

เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในปี 2535 พื้นที่แห่งนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นแหล่งมรดกที่ยังมีชีวิต ที่คนท้องถิ่นยังรักษาวิถีทางวัฒนธรรมและประเพณีของบรรพบุรุษที่สูญหายไปจากที่อื่น

อย่างไรก็ตาม ยูเนสโกระบุว่า นครวัดอยู่ภายใต้แรงกดดัน 2 ทาง จากผู้อยู่อาศัยราว 100,000 คน ในพื้นที่อยู่อาศัยตามประวัติศาสตร์ 112 แห่ง ที่พยายามขยายพื้นที่ของตนอยู่ตลอดเวลา และจากการรุกล้ำของเมืองเสียมราฐ

คำตอบของกัมพูชาคือการนำครอบครัวที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่ 10,000 ครอบครัว ให้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เขตรุนตาเอก และพื้นที่อื่นๆ รวมถึงชักชวนให้บางคนจากชุมชนประวัติศาสตร์ 112 แห่ง ย้ายถิ่นฐานไปยังที่แห่งใหม่เมื่อครอบครัวของพวกเขามีขนาดใหญ่ขึ้น

กัมพูชาเริ่มย้ายผู้คนไปย่านรุนตาเอกในปี 2565 โดยให้ผู้ที่สมัครใจย้ายออกจากพื้นที่เมืองพระนคร จะได้รับที่ดินเปล่า อาหารกระป๋องและข้าวสารสำหรับ 2 เดือน ผ้าใบ และแผ่นสังกะสี 30 แผ่น เพื่อใช้สร้างบ้าน

ในรายงานเดือน พ.ย. องค์การนิรโทษกรรมสากลตั้งคำถามว่าการย้ายถิ่นฐานเกิดขึ้นดวยความสมัครใจจริงหรือไม่ โดยระบุว่าผู้คนจำนวนมากที่พวกเขาสัมภาษณ์ถูกคุกคามหรือถูกบีบบังคับให้ย้ายถิ่นฐาน

“คำตัดสินของคณะกรรมการมรดกโลกนี้ ไม่ได้เรียกร้องกัมพูชาให้คำมั่นสัญญาอย่างชัดเจนว่าจะไม่ขับไล่ผู้ที่อยู่อาศัยในพระนคร ไม่ได้เรียกร้องให้ทางการกัมพูชาใช้มาตรการแก้ไขที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อรับประกันการเคารพสิทธิมนุษยชนของชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่” องค์การนิรโทษกรรมกล่าว.

โครงการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง.



ชาวเขมรหลายครอบครัวย้ายออกจากเขตนครวัดมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ชุมชนรุนตาเอก.
กำลังโหลดความคิดเห็น