รอยเตอร์ - เต่าดำตัวแรกที่ฟักออกจากไข่ในกรงเลี้ยงในกัมพูชา กำลังได้รับการเลี้ยงดูอย่างทะนุถนอมโดยนักอนุรักษ์ จนกว่าจะสามารถปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ ที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างประชากรของสัตว์เลื้อยคลานที่ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้
ลูกเต่าดำฟักออกจากไข่เมื่อปลายเดือน พ.ค. ที่ศูนย์เพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอังกอร์ (ACCB) หลังจากพ่อแม่ของมันได้รับการช่วยเหลือจากตลาดมืด
ผู้อำนวยการ ACCB ประจำประเทศ ระบุว่า สัตว์เลื้อยคลานตัวจิ๋ว ที่มีความยาวเพียง 6 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเพียง 40 กรัม คาดว่าจะอาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจนกว่าจะมีขนาดใหญ่พอที่จะลดความเสี่ยงจากผู้ล่าตามธรรมชาติได้
ผู้อำนวยการ ACCB กัมพูชากล่าวว่า อาจต้องใช้เวลา 4-6 ปี ถึงจะพิจารณานำสัตว์กลับคืนสู่ธรรมชาติ และเธอหวังว่าจะสามารถใช้เครื่องติดตามติดตามเต่าเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบนิเวศของเต่าชนิดนี้ และแผนการสำหรับการฟื้นฟูสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นี้ในกัมพูชา
เต่าดำ เป็นสัตว์เลื้อยคลานน้ำจืดที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกขึ้นบัญชีสิ่งมีชีวิตที่ใกล้จะสูญพันธุ์ โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) โดยทั่วไปแล้ว เต่าดำจะสามารถโตได้ประมาณ 17-20 เซนติเมตร
ประชากรเต่าดำกำลังตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่และการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ที่เป็นที่ต้องการทั้งเนื้อและกระดองของมัน ซึ่งนำไปใช้ในยาแผนโบราณ
ACCB ที่ตั้งสำนักงานอยู่ใน จ.เสียมราฐ ปัจจุบันมีเต่าดำโตเต็มวัย 6 ตัว และยังเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์อีก 29 ชนิด.