xs
xsm
sm
md
lg

UN เผยรัฐบาลทหารพม่ายังเข้าถึงอาวุธและเงินจากต่างประเทศได้ แม้มีมาตรการคว่ำบาตร พบบางส่วนผ่านไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ความพยายามระหว่างประเทศในการโดดเดี่ยวรัฐบาลทหารพม่าดูเหมือนจะกระทบความสามารถในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางทหารใหม่จากต่างประเทศ แต่กองทัพกลับยังคงสามารถเข้าถึงเงินและอาวุธสำหรับทำสงครามกับกองกำลังต่อต้านการรัฐประหาร ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติกล่าวรายงานที่เผยแพร่ในวันพุธ (26)

พม่าตกอยู่ในความวุ่นวายนับตั้งแต่ทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในการรัฐประหารปี 2564 ที่นำมาซึ่งการคว่ำบาตรทางการเงินจากชาติตะวันตกที่บังคับใช้กับทหาร ธนาคาร และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เป็นเวลามากกว่า 3 ปี ขบวนการเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงต่อต้านการรัฐประหารได้พัฒนาไปสู่สงครามกลางเมือง โดยทหารถูกกล่าวหาว่าทำการโจมตีทางอากาศต่อผู้ก่อความไม่สงบและพลเรือน ในขณะที่ทหารสูญเสียการควบคุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง

รายงานของ ทอม แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพม่าของสหประชาชาติ ระบุว่า มูลค่าของอาวุธ เทคโนโลยี 2 ทาง อุปกรณ์การผลิต และวัสดุอื่นๆ ที่รัฐบาลทหารพม่านำเข้ามีมูลค่า 253 ล้านดอลลาร์ ในช่วงปีจนถึงเดือน มี.ค.2567

รายงานระบุว่า จำนวนดังกล่าวน้อยกว่าปีก่อนหน้าถึง 1 ใน 3 เนื่องจากความพยายามของสิงคโปร์ในการป้องกันไม่ให้บริษัทต่างๆ ช่วยเหลือรัฐบาลทหารพม่า

แอนดรูว์กล่าวกับรอยเตอร์ว่า จากความคืบหน้าดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการคว่ำบาตรและความพยายามระหว่างประเทศอื่นๆ สามารถส่งผลกระทบต่อความสามารถของรัฐบาลทหารในการเติมเสบียง และลดความสามารถในการโจมตีของทหาร เช่น การโจมตีทางอากาศ ที่สังหารพลเรือนในหมู่บ้านของพวกเขา

“วิธีการที่พวกเขาใช้โจมตีหมู่บ้านเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการเข้าถึงอาวุธและวัสดุที่จัดหาจากต่างประเทศ” แอนดรูว์ ระบุ

กองทัพพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าได้กระทำการโหดร้ายทารุณต่อพลเรือน และกล่าวว่าพวกเขากำลังต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย เจ้าหน้าที่ไม่สนใจผลกระทบของการคว่ำบาตรและกล่าวว่าพวกเขาเพียงแต่ชะลอแผนในการนำประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตย

แอนดรูว์พิจารณาการจัดซื้อของหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงกลาโหม พบว่ามีการจัดซื้อจัดจ้างทางทหารมูลค่า 630 ล้านดอลลาร์ระหว่างปี 2565-2567

การส่งออกจากสิงคโปร์ลดลงจากมากกว่า 110 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2565 เหลือเพียงกว่า 10 ล้านดอลลาร์ รายงานระบุ

อย่างไรก็ตาม ไทยที่เป็นเพื่อนบ้านของพม่าได้เข้ามาเติมเต็มช่องว่างบางส่วน โดยบริษัทที่จดทะเบียนในไทยได้โอนถ่ายอาวุธและวัสดุที่เกี่ยวข้องมูลค่า 120 ล้านดอลลาร์ ในปีงบประมาณ 2566 เทียบกับ 60 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า รายงานระบุ

“เช่นตัวอย่างในปี 2566 บริษัทที่จดทะเบียนในไทยกลายเป็นแหล่งอะไหล่สำหรับเฮลิคอปเตอร์ Mi-17 และ Mi-35 ของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ที่บริษัทจดทะเบียนในสิงคโปร์เคยเป็นผู้จัดหาให้ก่อนหน้านี้” รายงานระบุ โดยอ้างถึงชื่ออย่างเป็นทางการของรัฐบาลทหาร

“SAC ใช้เฮลิคอปเตอร์เหล่านี้ขนส่งทหารและทำการโจมตีทางอากาศใส่เป้าหมายพลเรือน เช่น เหตุโจมตีในเดือน เม.ย.2566 กับหมู่บ้าน Pazigyi ในภาคสะกาย ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 170 คน รวมถึงเด็ก 40 คน” รายงานระบุ

กระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุในคำแถลงวันนี้ (27) ว่าธนาคารและสถาบันการเงินของประเทศปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่นเดียวกับศูนย์กลางทางการเงินอื่นๆ และเสริมว่ารัฐบาลจะพิจารณารายงานของผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติ

แต่คำแถลงของกระทรวงไม่ได้ตอบสนองต่อคำยืนยันของรายงานที่ว่าหน่วยงานที่จดทะเบียนในไทยได้โอนถ่ายอาวุธและวัสดุที่เกี่ยวข้องให้รัฐบาลทหารพม่า

“นี่เป็นเรื่องของนโยบายที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบของการคว่ำบาตรต่อประชากรในวงกว้าง” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุในคำแถลง โดยอ้างถึงแนวทางโดยรวมของไทยต่อพม่ารวมถึงการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตร

ด้านกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นจากรอยเตอร์ในทันที และโฆษกของรัฐบาลทหารพม่าไม่ตอบสนองต่อการติดต่อเพื่อขอความคิดเห็นจากรอยเตอร์เช่นกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น