xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลทหารพม่าหันพึ่งโดรนเริ่มสร้างฝูงบินตอบโต้ หลังกลุ่มติดอาวุธใช้ถล่มจนได้ชัยในการรบมาแล้วหลายครั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - นักสู้ของฝ่ายต่อต้านในพม่าประสบความสำเร็จในการสู้รบในช่วงปีที่ผ่านมา จากการพึ่งพาฝูงโดรนในการต่อสู้กับกองทัพทหารที่น่าเกรงขามที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่เมื่อสงครามกลางเมืองดำเนินมาเรื่อยๆ กลุ่มติดอาวุธก็เริ่มพบเห็นอาวุธที่พวกเขาคุ้นเคยมากขึ้นจากฝั่งรัฐบาลทหาร นั่นคือโดรนพาณิชย์ผลิตในจีนที่ดัดแปลงให้ติดอาวุธ ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ระบุ

“การต่อสู้กำลังเปลี่ยนแปลงในตอนนี้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายหันมาใช้โดรน” นักสู้ของกลุ่มติดอาวุธที่ระบุตนเองด้วยชื่อ ตา โย จี กล่าว

เขากล่าวว่ารัฐบาลทหารเริ่มหันมาใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV) เพื่อโจมตีกลุ่มติดอาวุธ และหน่วยของเขาเพิ่งยิงโดรนลำหนึ่งตก ที่พวกเขาระบุว่าเป็นของจีนโดยดูจากส่วนประกอบและถูกดัดแปลงเพื่อใช้ในการต่อสู้ นักสู้ของกลุ่มติดอาวุธอีก 2 คน ในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของพม่ายังกล่าวถึงการต่อสู้ที่คล้ายกันนี้ให้รอยเตอร์ฟังเช่นกัน

สำนักข่าวได้สัมภาษณ์นักสู้ของฝ่ายต่อต้าน 4 คน นักวิเคราะห์ 2 คน และเจ้าหน้าที่จากประเทศในภูมิภาคที่ติดตามความขัดแย้ง พวกเขาระบุว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลทหารใช้งานโดรนผลิตในจีนที่ติดตั้งวัตถุระเบิด

นักสู้ของฝ่ายต่อต้านบางคนได้รับบาดเจ็บจากโดรนของรัฐบาลทหาร ตา โย จี กล่าว

“พวกเขาใช้งานโดรนได้ดีขึ้น” ตา โย จี ระบุ

มิน ซอ อู ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อสันติภาพและความมั่นคงแห่งพม่า กล่าวว่ารัฐบาลทหารเริ่มจัดหา UAV เชิงพาณิชย์ของจีนมาหลายพันลำเมื่อต้นปี และกำลังปรับให้สามารถติดอาวุธที่ผลิตในท้องถิ่นได้

เขากล่าวว่าเขาได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโดรนของรัฐบาลทหารมาจากเจ้าหน้าที่ทหารและคนที่ทราบเรื่องการผลิตอาวุธ

อย่างไรก็ตาม โฆษกของรัฐบาลทหารไม่ได้ตอบสนองคำร้องของรอยเตอร์ที่ขอความคิดเห็นในประเด็นนี้ ขณะที่กองทัพไม่เคยพูดต่อสาธารณะเกี่ยวกับการใช้ UAV ส่วน พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เคยกล่าวเมื่อปีก่อนว่า กองกำลังติดอาวุธทิ้งระเบิดกว่า 25,000 ลูก ด้วยโดรนระหว่างการโจมตีครั้งใหญ่เดือน ต.ค. ตามฐานทหารที่บางแห่งถูกทิ้งร้าง

ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ตอบคำถามของรอยเตอร์โดยกล่าวว่า จีนมีความรับผิดชอบและรอบคอบโดยตลอดเกี่ยวกับการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางทหารและสินค้าที่ใช้ได้สองทางทั้งในด้านพาณิชย์และทางทหาร ส่วนโฆษกของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) หรือรัฐบาลเงาของพม่าไม่ได้ตอบกลับคำร้องขอความคิดเห็นในประเด็นนี้

กองทัพพม่าได้สั่งซื้ออากาศยานไร้คนขับ CH-3 UAV ติดอาวุธจำนวน 12 ลำจากจีน ประมาณปี 2559 ตามการประเมินฐานข้อมูลการถ่ายโอนอาวุธของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม แต่รัฐบาลทหารไม่ได้ใช้เครื่องบินประเภทนี้ในการต่อสู้ แต่กลับใช้โดรนเชิงพาณิชย์แบบหลายใบพัด รวมถึงโดรนที่ออกแบบมาเพื่อการเกษตรในปฏิบัติการล่าสุด สมาชิกของกลุ่มต่อต้านระบุ

นักสู้ของกลุ่มติดอาวุธ 4 คน กล่าวกับรอยเตอร์ว่าพวกเขาเห็นโดรนของรัฐบาลทหารเพียงไม่กี่ลำในแนวหน้าในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ซึ่งบ่งชี้ว่ากองทัพยังไม่นำเครื่องบินที่จัดซื้อใหม่ออกมาใช้ทั้งหมด

ทั้งนี้ รอยเตอร์ไม่สามารถระบุได้อย่างอิสระว่าเหตุใดโดรน CH-3 จึงยังไม่ถูกนำมาใช้ในปฏิบัติการโจมตี หรือเหตุใดรัฐบาลหารยังไม่สนับสนุนให้นำโดรนเชิงพาณิชย์ที่ผลิตในจีนออกมาใช้ในจำนวนมาก

เป็นเวลากว่า 3 ปี นับตั้งแต่การรัฐประหารยุติการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยของรัฐบาลพลเรือนลงอย่างกะทันหัน รัฐบาลทหารอยู่ในจุดที่อ่อนแอที่สุด โดยสูญเสียการควบคุมดินแดนจำนวนมากให้ฝ่ายตรงข้ามที่ประกอบด้วยกลุ่มติดอาวุธที่จัดตั้งใหม่และกองทัพชาติพันธุ์ที่มีอยู่เดิม

แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาทิศทางของสงครามกลางเมืองในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่กลุ่มต่อต้านดูเหมือนจะสูญเสียความได้เปรียบในช่วงแรกๆ ของกองกำลังหลักที่ใช้โดรนในการสู้รบ มิน ซอ อู จากสถาบันพม่ากล่าว ความคิดเห็นที่นักวิเคราะห์อีกคนหนึ่งและตา โย จี เห็นพ้อง


โดรนเชิงพาณิชย์กลายเป็นตัวเปลี่ยนเกมในช่วงที่ความขัดแย้งกำลังดำเนินอยู่ในยูเครน เมื่อกองกำลังเคียฟสร้างฝูงบินโดรนขึ้นอย่างรวดเร็วและส่งลงสนามรบ

ในพม่า ตา โย จี ไม่เคยคิดถึงอาวุธเลยจนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีก่อน ก่อนที่รัฐบาลทหารจะโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจี เขาเป็นเพียงคนขับรถโดยสารระยะไกลเท่านั้น

ความโกรธแค้นจากการปราบปรามของรัฐบาลทหารต่อการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร ตา โย จี เข้าร่วมกับคนหนุ่มสาวหลายพันคนจับอาวุธต่อต้านกองทัพ

ในตอนนี้เขาเป็นหัวหน้าหน่วยที่ชื่อว่า แองกรี้เบิร์ดโดรนเรนเจอร์ (Angry Bird Drone Rangers) ที่เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังต่อต้านที่เริ่มใช้ UAV ขนาดเล็กของบริษัท DJI ของจีนในภารกิจลาดตระเวนไม่นานหลังการรัฐประหาร

หน่วยของเขาได้สร้างโดรนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และดัดแปลงให้สามารถบรรทุกระเบิดที่ผลิตในประเทศตามคำแนะนำที่รวบรวมจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญบน TikTok Instagram และ YouTube

“เราซื้อส่วนประกอบมาทีละชิ้นและเริ่มทดสอบโดรนอยู่ประมาณ 4-5 เดือน” ตา โย จี กล่าว

สมาชิกของฝ่ายต่อต้านอีก 3 คน อธิบายถึงวิธีการที่คล้ายกันในการสร้าง UAV ติดอาวุธขนาดใหญ่ ส่วนประกอบหลายอย่างของโดรนมีจำหน่ายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค

กลุ่มติดอาวุธใช้โดรนเพื่อสอดแนมที่ตั้งของรัฐบาลทหาร ก่อนที่จะส่งโดรนไปทิ้งระเบิดและตามด้วยการโจมตีภาคพื้นดิน สมาชิกฝ่ายต่อต้านระบุ

จนกระทั่งไม่นานนี้ รัฐบาลทหารพึ่งปืนใหญ่และการสนับสนุนทางอากาศเพื่อเข้ารักษาด่านหน้าทางยุทธศาสตร์ในพื้นที่ชายแดน พื้นที่ที่มีการสู้รบนองเลือดเกิดขึ้น มิน ซอ อู ระบุ

กองกำลังเสริมจะถูกเรียกระดมพลเมื่อยามจำเป็น แต่รัฐบาลทหารก็ขาดกองกำลังสำรองที่จะเสริมกำลังตามที่มั่นในแนวหน้า มิน ซอ อู กล่าว ฝูงโดรนของฝ่ายต่อต้านเข้าโจมตีตำแหน่งปืนใหญ่และกองกำลังภาคพื้นดินของฝ่ายต่อต้านตัดการเข้าถึงฐานทหารที่อยู่ใกล้เคียง นักวิเคราะห์ที่เคยทำงานเจรจาหยุดยิงของกองทัพและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ กล่าว

การสาธิตการทำสงครามด้วยโดรนของกลุ่มติดอาวุธครั้งสำคัญที่สุดเกิดขึ้นในปฏิบัติการ 1027 ที่เป็นการโจมตีครั้งใหญ่นำโดยกลุ่มพันธมิตรของกองทัพชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม เมื่อเดือน ต.ค.

“นักสู้จากพันธมิตรสามภราดรภาพส่งฝูงโดรนระลอกแล้วระลอกเล่าทิ้งระเบิดใส่ฐานทหารเหล่านี้” มอร์แกน ไมเคิล ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าจากสถาบันคลังสมอง International Institute for Strategic Studies กล่าว

แต่หลายเดือนต่อมา กลุ่มต่อต้านก็เริ่มถูกโจมตีด้วยโดรนของรัฐบาลทหารเช่นกัน

“ผมคิดว่าปฏิบัติการ 1027 และวิธีที่โดรนถูกใช้ต่อสู้กับรัฐบาลทหารเป็นสัญญาณเตือนอย่างแท้จริง” ไมเคิล ที่ติดตามการสู้รบอย่างใกล้ชิด กล่าว

นักสู้ของฝ่ายต่อต้าน 2 คน กล่าวกับรอยเตอร์ว่าพวกเขายิงโดรนตกหลายลำ ที่ดูเหมือนว่าแต่เดิมนั้นถูกออกแบบสำหรับใช้ฉีดพ่นทางการเกษตร นักสู้หนึ่งในนั้นกล่าวว่าโดรนที่หน่วยของเขายิงตกมีข้อความภาษาอังกฤษเขียนว่า ‘Boying’

ทั้งนี้ บริษัท Boying ของจีน ที่ผลิตเครื่องควบคุมการบินสำหรับ UAV ที่ใช้ทางการเกษตรเป็นหลัก ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น

ฝูงบิน UAV โจมตีที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้รับการต้อนรับจากกกองกำลังทหารของรัฐบาลที่กำลังขวัญเสีย ซึ่งในตอนนี้ต้องอาศัยการเกณฑ์ทหารเพื่อเสริมกำลังพลที่ลดลงอย่างหนักในแนวหน้า มิน ซอ อู กล่าว

เนื่องจากกองทัพต้องใช้เวลาในการฝึกและปรับตัว จีงมีแนวโน้มที่พวกเขาจะยังคงใช้วิธีตั้งรับ แต่ในขณะเดียวกันก็จะคุกคามตำแหน่งของฝ่ายตรงข้ามด้วยการใช้โดรน มิน ซอ อู ระบุ.
กำลังโหลดความคิดเห็น