MGR ออนไลน์ - รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตเวียดนามเข้าพูดคุยเกี่ยวกับความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสมใต้โพสต์วิดีโอติ๊กต็อกของอดีตนายกรัฐมนตรีฮุนเซน กระทรวงสารสนเทศกัมพูชาระบุ
สก เจนดา สุเพีย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าความคิดเห็นเหล่านั้นก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อรัฐบาลและประชาชนกัมพูชา และขอความร่วมมือจากเวียดนามให้ระบุตัวบุคคลของผู้ที่อยู่เบื้องหลังคนเหล่านี้
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากฮุนเซนขอให้ทางการกัมพูชาร่วมมือกับเวียดนามติดตามผู้ที่แสดงความเห็นไม่ดูหมิ่นในภาษาเวียดนามในคลิปวิดีโอติ๊กต็อกของเขา
“ผมรู้สึกประหลาดใจมากที่เห็นคอมเมนต์บนคลิปติ๊กต็อกที่ผมโพสต์” ฮุนเซนเขียนความเห็นลงบนเฟซบุ๊กเมื่อวันอาทิตย์
ในภาพถ่ายหน้าจอที่ฮุนเซนได้นำมาโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก ประกอบไปด้วยความคิดเห็นภาษาเวียดนามจำนวนมาก ที่ส่วนหนึ่งเขียนว่า ‘เวียดนามเสียสละเลือดเนื้อเพื่อสันติภาพในกัมพูชา’ และ ‘อย่าลืมอาสาสมัครชาวเวียดนามหลายหมื่นคนที่เสียชีวิตในกัมพูชา’
อดีตนายกรัฐมนตรีที่ในปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสภาสูง และยังคงมีอิทธิพลอยู่มากในประเทศ ยังถูกเรียกว่า ‘หุ่นเชิดจีน’ และ ‘ผู้ทรยศ’
ฮุนเซนกล่าวว่า เขาสงสัยว่าสาเหตุของการโจมตีดังกล่าวน่าจะมาจากโครงการคลองฟูนันเตโช ที่ถูกเสนอและได้รับการอนุมัติในสมัยที่เขาเป็นผู้นำรัฐบาล
คลองดังกล่าวที่เชื่อมระหว่างกรุงพนมเปญกับชายฝั่งอ่าวไทย ผ่านทางแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง คาดว่าจะได้รับการพัฒนาโดยบริษัทจีน มูลค่า 1,700 ล้านดอลลร์
โครงการดังกล่าวสร้างความวิตกในเวียดนาม เนื่องจากพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่เป็นที่อยู่ของประชากรราว 17.4 ล้านคน อยู่บริเวณท้ายน้ำ และอาจได้รับผลกระทบรุนแรงจากโครงการ
ฮุนเซน ที่มองว่าโครงการนี้เป็นหนึ่งในมรดกยิ่งใหญ่ของเขา กล่าวเมื่อเดือนก่อนว่า กัมพูชาจะไม่เจรจากับเวียดนามเรื่องคลอง และเมื่อวันที่ 16 พ.ค. เขาได้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งการก่อสร้างโดยเร็วที่สุด
ฮุนเซนขึ้นสู่อำนาจในรัฐบาลที่ตั้งโดยเวียดนามหลังจากกองกำลังของเวียดนามบุกเข้าประเทศในช่วงปลายปี 2521 และโค่นล้มการปกครองของเขมรแดงได้อย่างรวดเร็ว กองกำลังเวียดนามยังคงอยู่ในกัมพูชาต่อไปอีก 10 ปี และต่อสู้กับกองโจรเขมรแดงที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ชายแดนไทย
กัมพูชาและเวียดนามเป็นพันธมิตรเหนียวแน่นมานานหลายทศวรรษ แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ กัมพูชาเอนเอียงไปทางจีนมากขึ้น ที่กลายเป็นแหล่งการลงทุนหลักของประเทศ ฝ่ายกัมพูชาก็ให้การสนับสนุนจีนในทางการทูต โดยเฉพาะในปี 2559 ที่กัมพูชาขัดขวางข้อเสนอของผู้นำอาเซียนในการยืนหยัดร่วมกันต่อสิ่งที่หลายประเทศในภูมิภาคมองว่าเป็นการอ้างสิทธิเหนือดินแดนที่ไม่ยุติธรรมของจีนในทะเลจีนใต้
ฮุนเซนเรียกร้องให้มีการตรวจสอบความคิดเห็นดูหมิ่นบนโซเชียลมีเดีย
“ผมไม่แน่ใจว่าคนเวียดนามเหล่านี้เป็นใคร ผมขอให้ทางการกัมพูชาร่วมมือกับทางการเวียดนามสอบสวนคนที่ดูหมิ่นผม” ฮุนเซนระบุ
เวียดนามมีหน่วยงานที่ควบคุมการแสดงความคิดเห็นสาธารณะบนอินเทอร์เน็ต ที่มักมุ่งเป้าไปที่ความเห็นต่างภายในประเทศ ทั้งทหารและตำรวจของเวียดนามต่างมีหน่วยสงครามไซเบอร์เพื่อปราบปรามการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองประเทศ
ทั้งนี้ ฮุนเซนกล่าวว่าเขาไม่ได้กล่าวหาว่าผู้นำเวียดนามใช้คนเหล่านี้ดูถูกเขา
อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่มีปฏิกิริยาใดๆ จากรัฐบาลเวียดนามต่อความคิดเห็นของฮุนเซน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้นำกัมพูชาตกเป็นเป้าในการโพสต์ความคิดเห็นบนอินเทอร์เน็ตที่เชื่อว่ามีต้นทางมาจากเวียดนาม โดยในช่วงปี 2559-2560 ฮุนเซนได้รับความเห็นเชิงลบหลายพันข้อความบนเฟซบุ๊ก และได้ขอให้เหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการพรรคของเวียดนามเข้าแทรกแซงเพื่อหยุดความเห็นเหล่านั้น
เฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมสูงสุดในทั้งสองประเทศ แต่ความนิยมของติ๊กต็อกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนหนุ่มสาว มีผู้ใช้งานติ๊กต็อกเกือบ 50 ล้านคนในเวียดนาม และ 7.1 ล้านคนในกัมพูชา
ฮุนเซนเป็นผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียตัวยง โดยมีผู้ติดตามบนเฟซบุ๊ก 14 ล้านราย และ 925,000 รายบนติ๊กต็อก.