xs
xsm
sm
md
lg

จีนเดินหน้าโครงการท่าเรือน้ำลึกในยะไข่ ส่งคนงานกว่า 300 ชีวิตเข้าพื้นที่แม้รอบด้านสู้รบดุเดือด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เกาะมะเด สถานที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจอก์พยู
MGR ออนไลน์ - จีนส่งช่างเทคนิคและคนงานมากกว่า 300 คน ไปยังโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของพม่า ท่ามกลางการต่อสู้รุนแรงระหว่างทหารและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ตามการเปิดเผยของคนในพื้นที่

ชาวบ้านเผยกับสำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีว่า เรือที่บรรทุกลูกเรือพร้อมด้วยเครื่องจักรกลหนักและอาหาร เข้าเทียบท่าที่เกาะมะเด ของเมืองจอก์พยู รัฐยะไข่ เมื่อวันที่ 28 เม.ย. หลังได้รับอนุญาตจากรัฐบาลทหารให้ทำงานในโครงการดังกล่าวที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษจอก์พยู

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากการปะทะกันนาน 6 เดือนในรัฐยะไข่ ระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพอาระกัน (AA) ที่เป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตร 3 กองทัพชาติพันธุ์ที่กำลังต่อสู้เพื่อผลักดันรัฐบาลทหารออกจากพื้นที่ในภาคตะวันตกและภาคเหนือของประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ชัยชนะของกองทัพชาติพันธุ์เป็นจุดเปลี่ยนในสงครามที่เริ่มขึ้นไม่นานหลังจากรัฐบาลทหารเข้าควบคุมประเทศในการรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ.2564

ท่าเรือน้ำลึกของเขตเศรษฐกิจพิเศษจอก์พยูเป็นโครงการสำคัญภายใต้การนำของจีน ที่ปักกิ่งได้ร้องขอการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติในปี 2566 โดยรัฐบาลทหาร และพยายามที่จะรับสมัครคนงานท้องถิ่นแต่เผชิญกับความขัดแย้งและความไม่ไว้ใจ

ชาวเมืองจอก์พยูรายหนึ่ง ที่เหมือนกับคนอื่นๆ ที่ให้สัมภาษณ์โดยขอไม่เปิดเผยตัวตนเนื่องด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย กล่าวกับสำนักข่าวว่า ชาวจีนบางคนที่มากับเรือตอนนี้อาศัยอยู่ตามโรงแรมต่างๆ ในเมือง

“ทั้งคนงานที่ทำงานที่นี่อยู่แล้ว และคนที่เพิ่งมาถึง พวกเขาเดินทางมาที่เกาะมะเดในตอนเช้าและกลับเข้าเมืองในตอนเย็นด้วยเรือโอเวอร์คราฟต์ เรือนั่นมาถึงพร้อมกับผู้เชี่ยวชาญชาวจีน รวมทั้งวิศวกรที่รับผิดชอบด้านระบบน้ำและไฟ” ชาวเมืองกล่าว

ความพยายามของสำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีที่จะติดต่อกับ หล่า เต็ง อัยการสูงสุดของรัฐบาลทหารและโฆษกของรัฐยะไข่ เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการส่งคนงานและสถานะของโครงการ ยังไม่มีการตอบกลับ

จีนและพม่าลงนามข้อตกลงเพื่อดำเนินการโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษจอก์พยูในเดือน พ.ย.2563 ภายใต้รัฐบาลของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ที่ถูกโค่นล้มหลังรัฐประหาร

ในวันที่ 6 ธ.ค.2566 สองประเทศได้ลงนามข้อตกลงอีกฉบับเกี่ยวกับโครงการท่าเรือน้ำลึกในระหว่างการประชุมที่กรุงเนปีดอ แต่แม้จะมีข้อตกลงดังกล่าว แต่โครงการนี้ยังคงไม่สามารถดำเนินการได้เต็มรูปแบบ

โครงการท่าเรือน้ำลึกนี้เป็นการร่วมทุนระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน โดยพม่ามีส่วนร่วม 30% และจีนเป็นผู้ลงทุนส่วนที่เหลือ 70% คาดว่าท่าเรือแห่งนี้จะมีท่าเทียบเรือทั้งหมด 10 ท่า ที่สามารถเทียบเรือตู้สินค้าได้

เมืองจอก์พยู เป็นแนวหน้าของการสู้รบในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาระหว่างทหารและกองทัพอาระกัน นับตั้งแต่ข้อตกลงหยุดยิงสิ้นสุดลงในเดือน พ.ย. โดยกองทัพอาระกันสามารถเข้าควบคุมเมืองได้ 8 เมือง จากทั้งหมด 17 เมืองของรัฐยะไข่ และอีก 1 เมืองในรัฐชิน ที่อยู่ใกล้กัน การปะทะและการเข้ายึดพื้นที่ยังคงเกิดขึ้นเกือบทุกวันในรัฐนี้

ชาวเมืองระบุว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพอาระกันสามารถเข้ายึดกองบัญชาการตำรวจรักษาชายแดนที่สนับสนุนรัฐบาลทหารได้ ซึ่งกองบัญชาการแห่งนี้มีทหารประจำการอยู่ราว 600 นาย รวมทั้งค่ายทหารอีก 2 แห่ง ในเมืองหม่องดอ

กองทัพอาระกันโจมตีกองบัญชาการตำรวจครั้งแรกในวันที่ 25 เม.ย. และเข้ายึดได้หลังต่อสู้นาน 1 สัปดาห์

“กองกำลังรักษาชายแดนหลายร้อยนายล่าถอยออกจากกองบัญชาการตำรวจไปที่เขตฉ่วยซาในเมืองหม่องดอ หลังถูกยึด” ชาวเมืองกล่าว

ชาวเมืองกล่าวว่า เมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ ที่มีประชากรอาศัยอยู่ราว 100,000 คน ที่โดยปกติแล้วชายหาดและตลาดของเมืองจะมีผู้คนพลุกพล่าน ได้กลายสภาพเป็นเมืองร้าง หลังกองทัพอาระกันยึดเมืองใกล้เคียงได้ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

คนที่ไม่มีทุนทรัพย์ในการย้ายถิ่นฐานต้องเผชิญกับการขาดแคลนสินค้าและราคาที่พุ่งสูงขึ้น ขณะที่บางคนกำลังอดอยาก ชาวเมืองกล่าว นอกจากนี้ ทหารเพิ่มการรักษาความปลอดภัยในเมืองอย่างเข้มงวดตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. ซึ่งผู้บัญชาการกองทัพอาระกันได้เรียกร้องให้ชาวเมืองสิตตะเวและจอก์พยูหลบหนีไปยังพื้นที่ที่กองกำลังของพวกเขาควบคุมอยู่

ขณะเดียวกัน กองทัพอาระกันและกองกำลังทหารฝ่ายรัฐบาลกำลังต่อสู้กันอย่างดุเดือดเพื่อควบคุมเมืองแอน ที่เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการภาคตะวันตกของกองทัพ และที่เมืองบุติด่อง และเมืองตานต่วย ซึ่งการต่อสู้ล่าสุดนี้ เกิดขึ้นหลังกองทัพอาระกันเข้ายึดเมืองรามรีได้

ชาวเมืองที่ติดตามความคืบหน้าของโครงการจีนในพื้นที่อย่างใกล้ชิดกล่าวกับสำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีว่า คาดว่ากองทัพอาระกันควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษจอก์พยู

แซคคารี อาบูซา นักวิเคราะห์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่วิทยาลัยการสงครามแห่งชาติในวอชิงตัน กล่าวว่า แม้ปักกิ่งจะได้รับการรับรองจากทั้งกองทัพพม่าและกองทัพอาระกันว่าพวกเขาจะปกป้องผลประโยชน์ของจีนในพม่า แต่การตัดสินใจของจีนที่ส่งคนงานและช่างเทคนิคไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษจอก์พยูกำลังทำให้คนเหล่านั้นตกอยู่ในอันตราย

“พวกเขาทั้งสองให้คำมั่นว่าจะปกป้องผลประโยชน์ของจีน แต่พวกเขายังคงแข่งขันกันอย่างมากในการเข้าควบคุมจอก์พยู ตอนนี้กองทัพอาระกันควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในตอนเหนือของยะไข่ และจะต้องเคลื่อนกำลังไปยังจอก์พยูวันใดวันหนึ่ง” นักวิเคราะห์กล่าว และว่าการต่อสู้ทวีความรุนแรงขึ้นรอบเมืองในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้

จีนกล่าวว่าต้องการมีบทบาทสร้างสรรค์ในการรักษาเสถียรภาพสถานการณ์ในรัฐยะไข่โดยเร็วที่สุด แต่ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า ปักกิ่งน่าจะมีแรงผลักดันจากความกังวลต่อโครงการพัฒนาของจีนในรัฐดังกล่าว ที่ยังรวมถึงท่อส่งน้ำมันและก๊าซ ที่ตัดผ่านจากรัฐยะไข่ไปยังมณฑลหยุนหนาน

ขณะเดียวกัน เชื่อว่ารัฐบาลทหารได้ร้องขอปักกิ่งให้ไกล่เกลี่ย เนื่องจากกองทัพยังคงเสียพื้นที่ในรัฐนี้ แต่ไม่ชัดเจนว่าจีนมีอิทธิพลเหนือกองทัพอาระกันมากพอที่จะยุติความขัดแย้งหรือไม่.

ท่าเทียบเรือบรรทุกน้ำมันบนเกาะมะเด เมืองจอก์พยู รัฐยะไข่
กำลังโหลดความคิดเห็น