เอพี - ลาว ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลและไม่มีชายหาดที่มีชื่อเสียงช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเช่นประเทศเพื่อนบ้าน แต่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้เต็มไปด้วยความงามอันบริสุทธิ์ของภูเขาและแม่น้ำ และสถานที่ทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่ช่วยดึงดูดผู้คนให้มาเยี่ยมเยือน
จุดหมายปลายทางที่โดดเด่นที่สุดของลาวคือเมืองหลวงพระบาง แหล่งมรดกโลกของยูเนสโก ที่ทุกองค์ประกอบผสมผสานรวมกันระหว่างสถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์ของลาวและเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส บนแผ่นดินที่โอบล้อมด้วยแม่น้ำ และเป็นจุดที่แม่น้ำโขงและแม่น้ำคานไหลมาบรรจบกัน
แต่โครงการเขื่อนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในแม่น้ำโขง ประมาณ 25 กิโลเมตรทางด้านเหนือน้ำของเมืองหลวงพระบาง ได้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่าเขื่อนดังกล่าวอาจส่งผลให้เมืองนี้สูญเสียสถานะมรดกโลก และเกิดคำถามในวงกว้างเกี่ยวกับแผนการอันทะเยอทะยานของรัฐบาลลาวในการสร้างเขื่อนหลายแห่งทั่วแม่น้ำโขงว่าจะส่งผลอย่างไรต่อแม่น้ำสายสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“เมื่อเขื่อนหลวงพระบางสร้างเสร็จ แม่น้ำจะไหลลงสู่แหล่งน้ำที่ตายแล้ว” ไบรอัน อายเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโครงการพลังงานน้ำและความยั่งยืนของศูนย์สติมสัน (Stimson Center)ในกรุงวอชิงตัน กล่าว
“ผู้คนที่กำลังไปหลวงพระบางในฐานะนักท่องเที่ยวเพื่อชมแม่น้ำโขงอันยิ่งใหญ่ และดูว่าคนลาวมีวิถีเช่นไรกับแม่น้ำ ปฏิสัมพันธ์เหล่านั้นจะหมดไป การตกปลา การล่องเรือ และการค้าขายในท้องถิ่นที่มีความหมายของชาวบ้านบนเรือลำเล็กทั้งหมดจะสิ้นสุดลง” อายเลอร์ กล่าว
เขื่อนกำลังสร้างขึ้นใกล้กับแนวรอยเลื่อนที่ยังมีพลัง และแม้ว่าการศึกษาการออกแบบจะสรุปได้ว่าเขื่อนสามารถทนต่อแผ่นดินไหวได้ แต่ชาวบ้านในพื้นที่ก็มีความกังวล
สม โพน อายุ 38 ปี ประกอบอาชีพให้บริการเรือนำเที่ยวและเป็นชาวหลวงพระบางตั้งแต่เกิด ความทรงจำของเขาเกี่ยวกับเหตุการณ์เขื่อนแตกในปี 2561 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคนและอีกหลายพันคนต้องพลัดถิ่นซึ่งทางการระบุว่ามีสาเหตุจากการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ยังคงชัดเจนเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้
“มีคนเสียชีวิตเยอะมาก” สม โพน กล่าว
แม้เมืองหลวงพระบางยังไม่ได้อยู่ในรายชื่อแหล่งมรดกโลกที่ตกอยู่ในภาวะอันตราย แต่ยูเนสโกได้ระบุข้อกังวลหลายประการ ที่รวมถึงการปกป้องสิ่งปลูกสร้างทางประวัติศาสตร์ ผลกระทบของโครงการเขื่อนต่อพื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้รับความคุ้มครองและริมฝั่งแม่น้ำของเมือง และกำลังรอรายงานตอบกลับจากลาว
“การศึกษาก่อนหน้านี้ที่ดำเนินการโดยทางการลาวยังไม่ได้ระบุว่าโครงการนี้มีผลกระทบเชิงลบหรือไม่” ยูเนสโกตอบคำถามจากสำนักข่าว และว่าประเด็นดังกล่าวจะมีการหารือโดยยูเนสโกในเดือน ก.ค. ระหว่างการประชุมที่กรุงนิวเดลี แต่ในระหว่างนี้การก่อสร้างยังคงดำเนินต่อไป
กิจกรรมมากมายกำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ก่อสร้างเขื่อน รถขุดดินจากเนินเขาริมแม่น้ำ รถบรรทุกอีกหลายคันถมหินจำนวนมากลงในแม่น้ำเพื่อสร้างฐานของเขื่อน จากจุดที่ตั้งเขื่อนสามารถมองเห็นถ้ำปากอู ที่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหลายร้อยองค์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนหลวงพระบาง
เมื่อโครงการเสร็จสิ้น คาดว่าจะต้องอพยพผู้คนมากกว่า 500 ครอบครัว และส่งผลกระทบต่อหมู่บ้าน 20 แห่ง
เมืองหลวงพระบางตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขาทางตอนเหนือของลาว มีสถานะเป็นเมืองหลวงในช่วงศตวรรษที่ 14 ถึงศตวรรษที่ 16 ก่อนจะย้ายเมืองหลวงไปยังเวียงจันทน์
ศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์ของประเทศแห่งนี้มีวัดตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก พระราชวังเก่า สิ่งปลูกสร้างจากยุคอาณานิคมฝรั่งเศส และพระธาตุบนยอดเขาที่มีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ น้ำตกงดงามหลายแห่งห่างจากตัวเมืองที่ใช้เวลาขับรถไปไม่นาน
ตลาดกลางคืนเต็มไปด้วยแผงขายงานหัตถกรรมดั้งเดิม ตลอดจนเครื่องประดับเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำจากเศษระเบิดอเมริกันหลายล้านลูกที่ทิ้งลงมาในประเทศช่วงสงครามเวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีตลาดเช้าที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้านำผักผลไม้ เครื่องเทศ ปลา และอาหารท้องถิ่นมาวางขายมากมาย
นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาทางเรือหรือรถไฟบนระบบรถไฟความเร็วสูง ที่สร้างขึ้นด้วยทุนจากจีนที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนที่เชื่อมนครหลวงเวียงจันทน์กับเมืองคุนหมิง
เมืองได้รับการเสนอชื่อเป็นมรดกโลกของยูเนสโกในปี 2538 เนื่องจากความเฉพาะตัวของภูมิทัศน์เมืองที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ผสมผสานกับพื้นที่ธรรมชาติที่ตั้งอยู่ในใจกลางเมือง ตามริมฝั่งแม่น้ำ และพื้นที่ชุ่มน้ำ
เขื่อนหลวงพระบางเป็นหนึ่งใน 9 โครงการเขื่อนที่ลาววางแผนสร้างขึ้นในแม่น้ำโขง จากเดิมที่มีอยู่ 2 แห่งแล้ว และยังสร้างเขื่อนอีกหลายสิบแห่งบนลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการของรัฐบาลที่จะทำให้ประเทศนี้เป็นแบตเตอรี่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการจัดหาไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้าน
ลาวพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศอย่างมาก โดยหลักมาจากจีนและไทยสำหรับการก่อสร้าง ที่เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ลาวในตอนนี้เป็นหนี้จีนก้อนโตและกำลังพยายามจะชำระคืน
“เมื่อเราคิดถึงโครงการแบตเตอรี่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของลาว นั่นก็คือลาวที่เปิดประตูกว้างรับนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาสร้างเขื่อน” อายเลอร์ ที่ยังเป็นผู้นำร่วมของโครงการติดตามเขื่อนแม่น้ำโขงของศูนย์สติมสัน กล่าว
การอนุมัติโครงการเขื่อนดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ที่มักไม่คำนึงถึงผลกระทบอย่างถี่ถ้วน และไฟฟ้าส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านของลาว อายเลอร์ระบุ
“เขื่อนนี้จะสร้างพลังงานให้ลาวไม่มากนัก แต่จะเป็นแหล่งพลังงานให้ห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ ดังนั้นจึงมีความไม่ตรงกันของผู้ที่ได้รับผลกระทบเชิงลบและผู้ที่ได้รับประโยชน” อายเลอร์กล่าวถึงโครงการหลวงพระบาง
เขื่อนบนแม่น้ำสายหลักแห่งแรกคือเขื่อนไซยะบุรี ที่อยู่บริเวณท้ายน้ำลงมาจากเมืองหลวงพระบาง ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2562 และได้ส่งผลกระทบต่อเมืองแล้ว ฟิลิป เฮิร์ช ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าว
“มันกลายเป็นเมืองริมทะเลสาบมากกว่าเมืองริมแม่น้ำแล้ว เพราะผลกระทบของเขื่อนไซยะบุรีที่อยู่ท้ายน้ำ” เฮิร์ช กล่าว
แม้ว่ามีแผนที่จะปล่อยน้ำไหลผ่านเขื่อนหลวงพระบางแห่งใหม่อย่างต่อเนื่อง ที่เรียกว่าเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน แต่น้ำจะขาดแคลนตะกอนมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการประมงแบบดั้งเดิมและการเพาะปลูกริมฝั่งแม่น้ำ
ในรายงานที่ได้รับมอบหมายจากทางการลาว CBA บริษัทที่ปรึกษาของอังกฤษสรุปว่า ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมใหญ่อันเนื่องมาจากเขื่อนแตกและการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำในแม่น้ำโขงได้รับการแก้ไขแล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวและคนอื่นๆ ยังคงมีความกังวลว่าเขื่อนกำลังถูกสร้างขึ้นใกล้กับแนวรอยเลื่อนที่มีพลัง
“เมื่อคุณมีอ่างเก็บน้ำยาว 78 กิโลเมตรและได้เพิ่มระดับน้ำราว 40 เมตร คุณจะมีกำแพงน้ำขนาดใหญ่ และหากพิจารณาถึงพื้นที่ลุ่มบางส่วนของหลวงพระบางที่อยู่ริมแม่น้ำ นั่นคือหายนะ” เฮิร์ช กล่าว
คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง องค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อความร่วมมือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำของประเทศต่างๆ ที่แม่น้ำไหลผ่าน ได้แก่ กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม กล่าวว่าการตรวจสอบทางเทคนิคของโครงการแสดงให้เห็นว่าความเคลื่อนไหวของพื้นดินจากแผ่นดินไหวเมื่อไม่นานนี้อยู่ในระดับต่ำกว่าขีดจำกัดการออกแบบของเขื่อนอย่างมีนัยสำคัญ
แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลลาวได้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อติดตามประเด็นความปลอดภัยของเขื่อน
แม่น้ำโขงเกื้อหนุนการทำประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงยังได้ตรวจสอบผลกระทบอื่นๆ ของเขื่อนที่อาจเกิดขึ้นต่ออุทกวิทยา ตะกอน คุณภาพน้ำ ปลา และประเด็นอื่นๆ ซึ่งคณะกรรมาธิการสรุปว่าเมื่อพิจารณาร่วมกับเขื่อนอื่นๆ ที่ลาวสร้างหรือวางแผนไว้แล้ว อาจก่อให้เกิดอันตรายกับท้ายน้ำในไทย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งยืนยันถึงข้อกังวลที่ประเทศเหล่านั้นส่งเสียง
“เมื่อพิจารณาแยกกัน ผลกระทบที่เป็นอันตรายข้ามพรมแดนที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการเขื่อนไฟฟ้าหลวงพระบางอาจไม่เป็นรูปธรรม แต่เมื่อรวมเข้ากับการพัฒนาที่กำลังดำเนินอยู่และที่วางแผนไว้ก็อาจส่งผลกระทบต่อรัฐชายฝั่งแม่น้ำอื่นๆ” คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกล่าว
สำหรับนักท่องเที่ยวอย่างบาร์บารา เคอร์ติ ที่มาหลวงพระบางเพื่อดูผู้คนจริงๆ วิถีชีวิตจริงๆ ของลาว เขื่อนแห่งใหม่อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความน่าดึงดูดของเมืองในฐานะจุดหมายปลายทาง
“สำหรับตัวฉันแล้วการสร้างเขื่อนนั้นเป็นปัญหา เพราะเขื่อนจะเปลี่ยนวิถีชีวิตและลักษณะที่แท้จริงของเมืองไปอย่างมาก” นักท่องเที่ยวชาวอิตาลีอายุ 46 ปี นั่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงกับเพื่อน กล่าว
“ในความคิดเห็นของฉัน เราต้องอนุรักษ์สิ่งที่สืบทอดกันมา” นักท่องเที่ยวต่างชาติ กล่าว.