รอยเตอร์ - กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ (UNICEF) ระบุว่าพลเรือนรวมทั้งเด็กที่เสียชีวิตหรือพิการจากทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดในพม่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าในปีที่ผ่านมา ที่ 1,052 คน ในขณะที่ความขัดแย้งแผ่ลามไปทั่วประเทศ
ยูนิเซฟระบุว่า ทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดจากสงครามเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายเพิ่มขึ้นถึง 270% ในปี 2566 ที่ประกอบด้วยผู้เสียชีวิต 188 ราย และได้รับบาดเจ็บ 864 ราย เพิ่มขึ้นจาก 390 รายในปี 2565 และมากกว่า 20% ของเหยื่อเป็นเด็ก
พม่าตกอยู่ในความสับสนวุ่นวายนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในการรัฐระหารปี 2564 ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้พม่ากลายเป็นประเทศที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลุ่มต่อต้านพลเรือนติดอาวุธได้รวมกำลังกับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่อสู้กับทหาร ผู้นำรัฐบาลทหารอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหลังพ่ายแพ้ในสนามรบในการโจมตีอย่างรวดเร็วของกลุ่มติดอาวุธที่เริ่มขึ้นในเดือน ต.ค.
ยูนิเซฟกล่าวว่า ทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดต่างๆ ถูกใช้งานตามอำเภอใจจากทั้งสองฝ่ายในความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น
“การใช้ทุ่นระเบิดไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่น่าตำหนิเท่านั้น แต่ยังผิดกฎหมายภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศด้วย” เดโบรา โคมินี ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของยูนิเซฟ กล่าว
ข้อมูลของยูนิเซฟระบุว่า กว่า 35% ของผู้บาดเจ็บล้มตายเนื่องจากทุ่นระเบิดทั้งหมดในปี 2566 อยู่ในภูมิภาคสะกาย.