xs
xsm
sm
md
lg

พม่าตำหนิสหประชาชาติกล่าวหาเรื่องสิทธิมนุษยชนข้างเดียว ซ้ำไม่แจ้งแต่งตั้งผู้แทนคนใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - รัฐบาลทหารพม่ากล่าวตำหนิสหประชาชาติว่า ‘กล่าวหาข้างเดียว’ เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ และกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษด้านกิจการพม่าคนใหม่

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ตกอยู่ในความสับสนวุ่นวายนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจในเดือน ก.พ.2564 ที่ยุติการปกครองระบอบประชาธิปไตยในช่วงสั้นๆ และจุดชนวนการปะทะกับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

รัฐบาลทหารตอบโต้ด้วยความไม่พอใจต่อความพยายามของสหประชาชาติและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่จะเปิดการเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารและฝ่ายตรงข้ามของพวกเขา ที่พวกเขาให้คำมั่นว่าจะทำลายล้าง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ลงมติประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างน่าหวาดกลัวและดำเนินการอย่างเป็นระบบในพม่า และยังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารในเรื่องการควบคุมการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ที่ระบุว่ากำลังทำให้วิกฤตที่ทำให้มีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 2.5 ล้านคนย่ำแย่ลงไปอีก

กระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่าระบุในคำแถลงที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์โกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ว่ามติดังกล่าวเป็นการกล่าวหาเพียงข้างเดียวและไม่มีมูล

“ดังนั้น พม่าไม่ยอมรับมติดังกล่าวอย่างเด็ดขาด” คำแถลงระบุ

คำแถลงยังระบุว่า สหประชาชาติไม่สื่อสารอย่างเป็นทางการกับพม่าเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษด้านกิจการพม่าคนใหม่

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติได้แต่งตั้ง จูลี บิชอป อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรเลียให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งตำแหน่งนี้ว่างลงหลังจากโนลีน เฮย์เซอร์ ดำรงตำแหน่งครบวาระและออกจากตำแหน่งไปเมื่อเดือน มิ.ย.2566

นักสังคมวิทยาชาวสิงคโปร์รายนี้ได้รับมอบหมายให้เรียกร้องให้กองทัพมีส่วนร่วมในการเจรจาทางการเมืองกับกลุ่มต่อต้าน และยุติการปราบปรามนองเลือดที่กองทัพดำเนินการหลังจากโค่นล้มรัฐบาลของอองซานซูจี

เฮย์เซอร์เดินทางเยือนพม่าในปี 2565 และได้พบหารือกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงคนอื่นๆ ความเคลื่อนไหวที่ถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการสร้างความชอบธรรมแก่นายพล

แต่เธอถูกปฏิเสธไม่ให้พบหารือกับอองซานซูจี และต่อมาได้สร้างความไม่พอใจให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารที่กล่าวหาว่าเธอออกแถลงการณ์ข้างเดียวเกี่ยวกับสิ่งที่ได้มีการหารือ

ในเวลาต่อมา เฮย์เซอร์ได้ให้คำมั่นว่าจะไม่เดินทางเยือนพม่าอีก เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้พบกับซูจี ซึ่งเวลานี้ซูจีกำลังรับโทษจำคุก 27 ปีตามคำตัดสินของศาลรัฐบาลทหาร.
กำลังโหลดความคิดเห็น