xs
xsm
sm
md
lg

ทูตจีนประจำพม่าเข้าคารวะสงกรานต์ "ตานฉ่วย" ฝ่ายต่อต้านเสี้ยมสะเทือน "มินอ่องหล่าย"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายเฉิน ไห่ เอกอัครราชทูตจีนประจำพม่า เข้าพบเพื่อคารวะ พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย เนื่องในเทศกาลตะจาน
MGR Online - ทูตจีนประจำพม่าเข้าพบ "ตานฉ่วย" และบุคคลที่เคยมีบทบาทสำคัญในอดีตอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อคาวระเนื่องในเทศกาลตะจานที่กำลังมาถึง สื่อฝ่ายต่อต้านได้ที "เสี้ยม" ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ กระเทือนเก้าอี้ "มินอ่องหล่าย"

วานนี้ (5 เม.ย.) สถานทูตจีนประจำพม่า เผยแพร่ภาพกิจกรรมของนายเฉิน ไห่ เอกอัครราชทูตจีน ประจำพม่า ผ่านทางแอปพลิเคชัน WeChat ซึ่งเขาได้เดินทางเข้าพบเพื่อแสดงความคารวะต่อบุคคลสำคัญจำนวนหนึ่งที่เคยมีบทบาทในแวดวงการเมืองของพม่า เนื่องในเทศกาลตะจาน หรือสงกรานต์ที่กำลังใกล้จะมาถึง

บุคคลที่นายเฉิน ไห่ เดินทางเข้าพบ ประกอบด้วย พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย อดีตประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (SPDC) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้นำเผด็จการของรัฐบาลทหารพม่า ในช่วงปี 2535-2554 พล.อ.หม่องเอ อดีตรองประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ มือขวาของ พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย อู เต็งเส่ง อดีตประธานาธิบดีพม่า ดอ ตานตานนุ ลูกสาวของ อู นุ อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่า รวมถึงอู เส่งวินอ่อง อดีตนายกสมาคมมิตรภาพพม่า-จีน

นายเฉิน ไห่ เข้าพบและคารวะ อู เต็งเส่ง อดีตประธานาธิบดีพม่า
ไม่มีการเผยแพร่รายละเอียดการพูดคุยระหว่างนายเฉิน ไห่ กับบุคคลสำคัญเหล่านี้ Eleven Media Group รายงานเพียงว่า จีนเป็นประเทศที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอยู่เป็นจำนวนมากในพม่า จึงพยายามเข้าไปมีบทบาทในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะหลังเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา นอกจากนี้ พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ยังมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับอดีตผู้บริหารพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ขณะที่สื่อที่สนับสนุนความเคลื่อนไหวของรัฐบาลเงา (NUG) และกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้าน (PDF) เช่น The Irrawaddy กับ Chindwin News Agency นำเสนอข่าวนี้โดยตั้งข้อสังเกตเชิงชี้นำว่า การเข้าพบอดีตผู้นำเผด็จการอย่าง พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ของเอกอัครราชทูตจีนประจำพม่าครั้งนี้ อาจมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ตัวผู้นำปัจจุบันของกองทัพพม่า โดยเฉพาะ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เพราะหลังจากที่เขานำกำลังเข้าทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลของพรรค NLD แล้ว เขายังไม่สามารถสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นในพม่าได้ เพราะหลายพื้นที่ยังคงมีการสู้รบกันอยู่.

ดอ ตานตานนุ (กลาง) ลูกสาวของ อู นุ อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของสหภาพพม่า


กำลังโหลดความคิดเห็น