เอเอฟพี - รายงานฉบับใหม่จากกลุ่มสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ระบุว่า สายพันธุ์ปลา 1 ใน 5 ในลุ่มแม่น้ำโขงเผชิญกับภัยคุกคามต่อการสูญพันธุ์
แม่น้ำโขงเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก ที่เป็นรองเพียงแค่แม่น้ำแอมะซอนและแม่น้ำคองโก เป็นที่อยู่อาศัยของปลาราว 1,148 สายพันธุ์ โดยผู้คนหลายล้านชีวิตพึ่งพาแหล่งน้ำแห่งนี้เพื่อเลี้ยงชีพ
แต่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ปลาในลุ่มน้ำโขงเผชิญกับภัยคุกคามมากมาย ที่รวมถึงการสร้างเขื่อน การทำเหมืองขุดทราย การทำประมงที่จัดการไม่ดี การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย และการนำสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่
รายงานระบุว่า 19% ของสายพันธุ์ปลาในแม่น้ำถูกคุกคามอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และเน้นย้ำว่าจำนวนปลาที่ลดน้อยลงจะส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้านที่การดำรงชีวิตต้องพึ่งพาแม่น้ำสายนี้อย่างไร
“การลดลงอย่างน่าตกใจของประชากรปลาในแม่น้ำโขงเป็นการปลุกกระตุ้นให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เราต้องดำเนินการทันทีเพื่อหยุดยั้งแนวโน้มหายนะนี้ เนื่องจากชุมชนและประเทศต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงไม่สามารถสูญเสียสิ่งเหล่านี้ไปได้” ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของ WWF กล่าว
รายงานจากกลุ่มภูมิภาคและระหว่างประเทศ 25 กลุ่ม ได้ตรวจสอบผลกระทบในส่วนต่างๆ ของแม่น้ำความยาว 4,900 กิโลเมตร ที่เป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงทะเลสาบโตนเลสาบของกัมพูชา ที่พวกเขากล่าวว่าประชากรปลาลดลง 88% ระหว่างปี 2546 และปี 2562
ผู้เขียนรายงานระบุว่า ปลา 74 สายพันธุ์ได้รับการประเมินว่ามีสถานะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และมี 18 สายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
“สิ่งนี้หมายความว่าประมาณ 19% ของสายพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงที่รู้จักกำลังถูกคุกคาม” รายงานระบุ
อย่างไรก็ตาม รายงานยังระบุอีกว่าสายพันธุ์ปลาที่กำลังหายไปอาจทำให้การตัดไม้ทำลายป่าในภูมิภาครุนแรงขึ้น เนื่องจากผู้คนหลายล้านคนที่เคยอาศัยแม่น้ำถูกบังคับให้ต้องไปทำการเกษตร
“เห็นได้ชัดว่าเรากำลังเสี่ยงต่อวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพครั้งใหม่สำหรับลุ่มแม่น้ำโขง แต่ยังไม่สายเกินไป” เฮอร์แมน แวนนิงเกน กรรมการผู้จัดการมูลนิธิ World Fish Migration Foundation ที่เป็นส่วนหนึ่งของรายงานระบุ
ในข้อเสนอแนะของรายงานได้เรียกร้องให้ประเทศในลุ่มน้ำโขงให้คำมั่นต่อโครงการฟื้นฟูแม่น้ำ และปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศของแม่น้ำ
การเพิ่มการไหลเวียนตามธรรมชาติของแม่น้ำ การปรับปรุงคุณภาพน้ำ การปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยและสายพันธุ์ที่สำคัญ และการขจัดสิ่งกีดขวางแม่น้ำที่ล้าสมัย เป็นหนึ่งใน 6 เสาหลักที่รายงานแนะนำเพื่อช่วยฟื้นฟูแม่น้ำโขง.