xs
xsm
sm
md
lg

‘พนมเปญโพสต์’ นสพ.รุ่นบุกเบิกของกัมพูชาเตรียมยุติตีพิมพ์หลังประสบปัญหาการเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - พนมเปญโพสต์ หนังสือพิมพ์ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2535 ขณะที่กัมพูชาพยายามสร้างเสถียรภาพและประชาธิปไตยขึ้นใหม่หลังอยู่ในภาวะสงครามและความไม่สงบนานหลายศตวรรษ ระบุว่าจะหยุดตีพิมพ์ในเดือนนี้ นับเป็นเหตุการณ์เลวร้ายล่าสุดที่เกิดขึ้นกับสื่ออิสระของประเทศที่ลดจำนวนลงเรื่อยๆ

หนังสือพิมพ์เดอะพนมเปญโพสต์ก่อตั้งขึ้นในฐานะหนังสือพิมพ์รายปักษ์ภาษาอังกฤษในปี 2535 หลังจากนั้นได้เพิ่มการตีพิมพ์ฉบับภาษาเขมร และปรับเป็นหนังสือพิมพ์รายวันตั้งแต่ปี 2551

พนมเปญโพสต์ระบุในบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ว่าจะหยุดเผยแพร่ทั้งฉบับภาษาอังกฤษและภาษาเขมรภายในวันที่ 29 มี.ค. โดยอ้างถึงรายได้จากโฆษณาที่ลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด ที่เพิ่มปัญหาทางการเงินที่ได้รับผลกระทบจากสื่อสังคมออนไลน์และเทคโนโลยีใหม่อื่นๆ

แม้ว่าหนังสือพิมพ์จะไม่ได้กล่าวถึง แต่ซีอีโอคนปัจจุบันของพนมเปญโพสต์ยืนยันในข้อความที่ส่งถึงสำนักข่าวต่างประเทศว่าหนังสือพิมพ์จะยังคงเผยแพร่ข่าวสารทางช่องทางออนไลน์ต่อไป

ในปี 2560 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮุนเซนในขณะนั้นดำเนินการปราบปรามสื่ออิสระอย่างหนัก และหนังสือพิมพ์แคมโบเดียเดลี่ที่เป็นคู่แข่งของพนมเปญโพสต์ ถูกบังคับให้ต้องปิดตัวลงหลังหนังสือพิมพ์ถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจำนวนมาก ซึ่งดูเหมือนเป็นเหตุผลทางการเมือง

ด้านพนมเปญโพสต์ก็ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันทางการเมืองที่คล้ายกัน เนื่องจากรายได้จากโฆษณาลดลง และในปี 2561 เจ้าของชาวออสเตรเลียได้ขายหนังสือพิมพ์ให้นักลงทุนชาวมาเลเซีย ที่ถูกมองอย่างกว้างขวางว่าเป็นตัวแทนให้พรรคประชาชนกัมพูชาที่เป็นพรรครัฐบาล เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การลาออกของพนักงานอาวุโสจำนวนมากและยุติการรายงานข่าวเชิงรุกที่เคยเป็นจุดเด่นของหนังสือพิมพ์

พนมเปญโพสต์ก่อตั้งขึ้นโดยไมเคิล เฮย์ส และแคทเธอลีน โอคีฟ ชาวอเมริกันโดยได้รับความช่วยเหลือจากสหประชาชาติ และพยายามฟื้นตัวจากการทำลายล้างที่เกิดขึ้นจากการปกครองอันโหดร้ายของเขมรแดงในช่วงปลายทศวรรษ 1970 เขมรแดงยังคงเป็นภัยคุกคามทางทหารในช่วงปลายทศวรรษ 1990 และการรายงานข่าวในช่วงต้นส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ความขัดแย้งดังกล่าว โดยได้รับความช่วยเหลือจากพนักงานและฟรีแลนซ์หลากหลายเชื้อชาติ

พนมเปญโพสต์ที่ไม่เคยทำกำไรได้มากถูกขายให้กลุ่มสื่อที่นำโดยออสเตรเลียในปี 2551 ในช่วงเวลานั้น สื่ออิสระทั้งหมดกำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อนายกรัฐมนตรีฮุนเซนในขณะนั้นและพรรคประชาชนกัมพูชาของเขาเพิ่มการกุมอำนาจ และพยายามปิดปากนักวิจารณ์ ฮุนเซนก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศที่ครองมานาน 38 ปีในปีก่อน และส่งต่ออำนาจให้ลูกชายของเขา

เมื่อปีที่แล้ว สถานีวิทยุ Voice of Democracy หนึ่งในสื่ออิสระที่ยังเหลืออยู่ไม่กี่แห่งของกัมพูชา ได้ยุติการดำเนินการหลังจากฮุนเซนสั่งปิดสถานีดังกล่าว จากข้อกล่าวหาว่าใส่ร้ายลูกชายของเขาในรายงานชิ้นหนึ่ง.
กำลังโหลดความคิดเห็น