MGR Online - กระทรวงพลังงานลาวจัดประชุมเผยแพร่ข้อมูลเขื่อนไฟฟ้าหลวงพระบางกั้นแม่น้ำโขง ชี้ผลกระทบต้องโยกย้ายชาวบ้าน 813 ครอบครัว กว่า 6 พันคน จัดสรรที่อยู่ให้ใหม่ ความคืบหน้าล่าสุด ก่อสร้างไปแล้ว 25% คาดแล้วเสร็จเปิดขายไฟได้ต้นปี 2573
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมแผนกการเงิน แขวงหลวงพระบาง นายจันสะแหวง บุนยง รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ เป็นประธานการประชุมเผยแพร่รายละเอียดสัญญาสัมปทาน โครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าแม่น้ำโขงหลวงพระบาง มีตัวแทนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำนวนมากเข้าร่วม
เขื่อนผลิตไฟฟ้าแม่น้ำโขงหลวงพระบาง เป็นเขื่อนแบบฝายน้ำล้น (Run off River) สร้างกั้นแม่น้ำโขง ที่บ้านห้วยโง เมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง อยู่ห่างจากตัวเมืองหลวงพระบางขึ้นไปทางทิศเหนือ 25 กิโลเมตร อยู่เหนือจากปากแม่น้ำอู 4 กิโลเมตร ห่างจากเขื่อนไซยะบูลี 130 กิโลเมตร และห่างจากจุดก่อสร้างโครงการเขื่อนปากแบง 170 กิโลเมตร
ตัวเขื่อนเป็นคอนกรีตแบบถ่วงน้ำหนัก (Concrete Gravity Dam) ยาว 861 เมตร ไม่มีการกักเก็บน้ำ ทำให้กระแสน้ำไหลเข้า (inflow) เท่ากับกระแสน้ำไหลออก (outflow) มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,460 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยกังหัน Kaplan (Main Unit) 7 หน่วย กำลังการผลิตหน่วยละ 200 เมกะวัตต์ และเครื่องจักรเสริม (Auxiliary Unit) อีก 3 หน่วย กำลังการผลิตหน่วยละ 20 เมกะวัตต์ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 6,854 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี (GWh/y) โดยมาจาก Main Unit 6,615 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และ Auxiliary Unit อีก 238 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี
โครงการนี้ใช้เงินลงทุนกว่า 1.5 แสนล้านบาท มีผู้ถือหุ้นรวม 4 ราย ได้แก่ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) จากประเทศไทย ถือหุ้น 50% บริษัท พีที จำกัดผู้เดียว ของลาว ถือหุ้น 10.01% บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) จากประเทศไทย ถือหุ้น 20% และบริษัท Gulf Hydropower Holding จากสิงคโปร์ ถือหุ้น 19.99%
เขื่อนผลิตไฟฟ้าแม่น้ำโขงหลวงพระบางเริ่มต้นก่อสร้างตั้งแต่ต้นปี 2563 คาดว่าจะสร้างเสร็จและเปิดขายไฟฟ้าอย่างเป็นทางการได้ในต้นปี 2573 ความคืบหน้าล่าสุดสามารถก่อสร้างไปได้แล้ว 25%
มีประชาชนจาก 3 แขวงที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแห่งนี้ ประกอบด้วย ประชาชนในเมืองจอมเพ็ดกับเมืองปากอู แขวงหลวงพระบาง ประชาชนในเมืองหงสา แขวงไซยะบูลี และประชาชนในเมืองงา แขวงอุดมไซ จำนวนบ้านที่ได้รับผลกระทบรวม 26 บ้าน ในนี้มี 14 บ้าน ประชากร 6,484 คน จาก 813 ครัวเรือน ที่คาดว่าจะถูกโยกย้ายและต้องจัดสรรที่อยู่ใหม่ อีก 8 บ้าน ที่ถูกผลกระทบต่อพื้นที่ทำการเกษตร และอีก 3 บ้าน ที่ได้รับผลกระทบเพราะอยู่ใต้เขื่อน
นายจันสะแหวง บุนยง รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ กล่าวว่า ปัจจุบัน ทั่วประเทศลาวมีแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตติดตั้งตั้งแต่ 1 เมกะวัตต์ขึ้นไป รวม 98 แห่ง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 11,692.14 เมกะวัตต์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 58,884.27 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี 95.88% ของจำนวนครัวเรือนทั่วประเทศทุกวันนี้มีไฟฟ้าใช้แบบถาวร มีสถานีจ่ายไฟฟ้าทั่วประเทศ 84 แห่ง มีโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ตั้งแต่ 500 กิโลโวลต์ 230 กิโลโวลต์ และ 115 กิโลโวลต์ และโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าแรงดันกลางและต่ำกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ ความยาวรวมกว่า 8.7 หมื่นกิโลเมตร
หลังเสร็จสิ้นการประชุม รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ และคณะ ได้เดินทางไปดูความคืบหน้าการก่อสร้างบ้านจัดสรรให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าแม่น้ำโขงหลวงพระบาง ที่บ้านห้วยยอ เมืองจอมเพ็ด.