xs
xsm
sm
md
lg

พม่าส่งตัวผู้ต้องสงสัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้ทางการจีนรวมกว่า 40,000 คนในปี 66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - สื่อทางการของปักกิ่งเผยว่ามีผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนร่วมในการหลอกลวงทางไซเบอร์ในพม่ามากกว่า 40,000 คน ถูกส่งตัวให้ทางการจีนในช่วงปีที่ผ่านมา

สถานประกอบการของขบวนการฉ้อโกงทางออนไลน์ขยายตัวเฟื่องฟูอย่างมากในพื้นที่ชายแดนของพม่า โดยมีพลเมืองจากจีนและประเทศอื่นๆ ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และถูกบังคับให้ทำงานฉ้อโกงเพื่อนร่วมชาติ

การหลอกลวงดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้ปักกิ่ง พันธมิตรหลักของรัฐบาลทหารพม่า และจีนได้บอกทางการพม่าหลายครั้งให้ปราบปรามอุตสาหกรรมนี้ ที่นักวิเคราะห์กล่าวว่ามีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี

“นับตั้งแต่เดือน ส.ค. จำนวนคดีฉ้อโกงทางโทรคมนาคมอินเทอร์เน็ตลดลงอย่างต่อเนื่อง และงานควบคุมและปราบปรามได้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง” สถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีน กล่าว

“ด้วยความร่วมมืออย่างแข็งขันของทุกฝ่ายในพม่า ผู้ต้องสงสัยฉ้อโกงทางโทรคมนาคมอินเทอร์เน็ตรวมทั้งหมด 41,000 คน ถูกส่งมอบให้เราในปี 2566” CCTV กล่าว โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสัญชาติของคนเหล่านั้น

รายงานเสริมว่า กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนได้ปราบปรามอย่างหนักกับแก๊งอาชญากรที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงที่ให้การบริการผิดกฎหมาย เช่น การส่งเสริมการขายทางออนไลน์ การฟอกเงิน การพัฒนาเทคโนโลยี และการย้ายถิ่น
ฐานอย่างผิดกฎหมายสำหรับกลุ่มฉ้อโกงในต่างประเทศ

ในเดือน พ.ย. รัฐบาลทหารพม่าระบุว่าได้จับกุมหัวหน้าขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 2 คน ที่ดำเนินการอยู่ในเมืองทางตอนเหนือ และเป็นคนที่จีนต้องการตัว ขณะที่รายที่ 3 ฆ่าตัวตายระหว่างการจับกุม

สหประชาชาติระบุเมื่อปีที่แล้วว่าอาจมีคนอย่างน้อย 120,000 คน ติดอยู่ในสถานประกอบการฉ้อโกงออนไลน์ในพม่า

ในเดือน ต.ค. พันธมิตรของกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์เปิดฉากโจมตีทหารทั่วพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐชาน ติดชายแดนทางใต้ของจีน

ความขัดแย้งที่กลับมาปะทุอีกครั้งนี้สร้างความวิตกกังวลในปักกิ่ง และเมื่อวันพฤหัสฯ จีนได้แสดงความไม่พอใจอย่างมากที่การต่อสู้ส่งผลให้พลเมืองของจีนบาดเจ็บล้มตาย หลังมีรายงานว่ากระสุนปืนใหญ่จากการสู้รบตกในฝั่งจีน

ทั้งนี้ คำแถลงของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนไม่ได้ระบุว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตกี่คนจากเหตุการณ์ดังกล่าว

พันธมิตรของกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ในพม่าได้ยึดเมืองและศูนย์กลางชายแดนที่มีความสำคัญทางการค้ากับจีนไว้ได้หลายแห่ง ความเคลื่อนไหวที่นักวิเคราะห์กล่าวว่าเป็นความท้าทายทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดต่อรัฐบาลทหารนับตั้งแต่ยึดอำนาจในปี 2564

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ปักกิ่งระบุว่าได้ไกล่เกลี่ยการเจรจาระหว่างกองทัพพม่าและกลุ่มพันธมิตรของกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ และบรรลุข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม การปะทะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องในพื้นที่ของรัฐชาน และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานทูตจีนได้ขอให้พลเมืองอพยพออกจากพื้นที่ตามแนวชายแดนเนื่องจากมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย.




กำลังโหลดความคิดเห็น