MGR Online - สงครามอินโดจีนแม้สิ้นสุดไปแล้วเกือบ 50 ปี แต่ระเบิดที่กองทัพสหรัฐอเมริกาทิ้งลงมาในลาวยังคงแผลงฤทธิ์ คร่าชีวิตชาวบ้านไปแล้ว 9,797 ราย จากระเบิดตกค้างที่กลับมาระเบิดภายหลัง
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหาระเบิดตกค้าง สปป.ลาว ได้เซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อรับเงินทุนสนับสนุนจากองค์การเพื่อมนุษยธรรมและการมีส่วนร่วมประจำลาว ในโครงการช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายและส่งเสริมความปลอดภัยจากระเบิดตกค้างในพื้นที่แขวงผ้งสาลี
โครงการดังกล่าวจะได้รับเงินทุนช่วยเหลือจากกระทรวงการต่างประเทศนอร์เวย์ มูลค่า 618,750 ยูโร ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่วันลงนามใน MOU ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
นายโจมแยง แพงทองสะหวัด หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหาระเบิดตกค้าง เปิดเผยภายหลังเสร็จพิธีลงนาม MOU ว่า ลาวเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากระเบิดตกค้างมากกว่าประเทศอื่นหากเทียบกับจำนวนประชากร โดยตั้งแต่สงครามอินโดจีนสิ้นสุดลงในปี 2518 จนถึงปัจจุบัน มีประชากรลาวที่ต้องรับเคราะห์จากระเบิดตกค้างที่เกิดระเบิดขึ้นรวมกว่า 19,000 ราย แบ่งเป็นผู้เสียชีวิต 9,797 ราย ได้รับบาดเจ็บอีก 9,347 คน
เฉพาะในแขวงผ้งสาลี นับแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบัน มีกรณีระเบิดตกค้างเกิดระเบิดขึ้น 25 ครั้ง มีผู้เคราะห์ร้าย 31 ราย แบ่งเป็นผู้เสียชีวิต 16 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 15 คน
หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหาระเบิดตกค้างให้ข้อมูลว่า ช่วงสงครามอินโดจีนระหว่างปี 2507-2516 ตลอดระยะเวลา 9 ปี มีเครื่องบินของกองทัพสหรัฐอเมริกาบินนำระเบิดมาทิ้งในดินแดนลาวมากกว่า 580,000 เที่ยว คิดเป็นปริมาณระเบิดที่ถูกทิ้งลงมามากกว่า 270 ล้านลูก ในนี้เป็นระเบิดขนาดใหญ่มากกว่า 4 ล้านลูก และคาดว่า 30% ของระเบิดเหล่านี้ได้กลายเป็นระเบิดตกค้างในดินแดนลาวที่ยังไม่เกิดการระเบิด ถือเป็นภัยอันตราย และส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน และการพัฒนาประเทศชาติ
ข้อมูลล่าสุดจากคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหาระเบิดตกค้าง ระบุว่า 6 เดือนแรกของปี 2566 มีกรณีระเบิดตกค้างเกิดการระเบิดขึ้น 11 ครั้ง มีผู้รับเคราะห์ 21 ราย แบ่งเป็นผู้บาดเจ็บ 17 คน และเสียชีวิต 4 ราย
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 รัฐบาลลาวได้โอนย้ายหน่วยงานคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหาระเบิดตกค้าง จากเดิมที่สังกัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ให้เปลี่ยนไปขึ้นตรงกับกระทรวงการต่างประเทศ.