เอเอฟพี - ผู้นำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และญี่ปุ่นเห็นพ้องกันในวันอาทิตย์ (17) ที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับการรุกรานอ้างสิทธิ์ที่เพิ่มขึ้นของปักกิ่ง ที่เห็นได้จากเหตุการณ์การเผชิญหน้ากับเรือของฟิลิปปินส์เมื่อไม่นานนี้
ปักกิ่งอ้างสิทธิ์เหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ ระเบียงการค้าสำคัญ และได้ประจำการเรือในพื้นที่เพิ่มขึ้น รวมถึงใช้วิธีการต่างๆ เพื่อยืนยันการอ้างสิทธิ์ในพื้นที่พิพาท ที่สร้างความไม่พอใจต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ตลอดจนวอชิงตัน
ในคำแถลงร่วมหลังการประชุมสุดยอดในกรุงโตเกียวระบุว่า ญี่ปุ่นและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ตกลงที่จะกระชับความร่วมมือและการเจรจาเพื่อรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยทางทะเลและความสงบเรียบร้อยทางทะเล บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม
ญี่ปุ่น พันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ ที่มีข้อพิพาทดินแดนและข้อพิพาทอื่นๆ กับจีน กำลังเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหม และขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
เมื่อวันเสาร์ (16) ญี่ปุ่นประกาศว่าจะกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้นกับมาเลเซียและจัดสรรเงินทุน 400 ล้านเยน (2.8 ล้านดอลลาร์) สำหรับอุปกรณ์เตือนภัยและเฝ้าระวัง
ญี่ปุ่นเห็นพ้องเมื่อเดือนที่แล้วที่จะช่วยฟิลิปปินส์ซื้อเรือยามฝั่งและจัดหาระบบเรดาร์ และสองฝ่ายกำลังหารือที่จะอนุญาตให้ส่งกำลังทหารไปยังพื้นที่ของกันและกัน
ญี่ปุ่นแสดงความวิตกกังวลอย่างจริงจังเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นอันตราย หลังจากการเผชิญหน้าตึงเครียดครั้งล่าสุดระหว่างเรือฟิลิปปินส์และเรือจีนที่บริเวณแนวปะการังพิพาท ซึ่งรวมถึงเหตุปะทะกันและเรือจีนใช้หัวฉีดน้ำแรงดันสูงยิงใส่
ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ของฟิลิปปินส์ กล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ NHK เมื่อวันเสาร์ว่า สถานการณ์ในทะเลจีนใต้มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ
“เรามาถึงจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ ระเบียบโลกที่เสรีและเปิดกว้างบนพื้นฐานของหลักนิติธรรมกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างรุนแรง ในขณะที่เรากำลังเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลายและซับซ้อน เช่นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความไม่เท่าเทียม” นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น กล่าว
“ขณะที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตซับซ้อน ในขณะที่ความแตกแยกและความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ ญี่ปุ่นจะรับมือกับความท้าทายร่วมกับประเทศในอาเซียน ที่เป็นแกนกลางของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” ผู้นำญี่ปุ่น กล่าว
ผู้นำญี่ปุ่นและอาเซียนยังเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น และกระชับความร่วมมือในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในด้านพลังงาน แร่ธาตุสำคัญ อวกาศ และด้านอื่นๆ เช่นปัญญาประดิษฐ์ และความปลอดภัยทางไซเบอร์
ในการกล่าวสุนทรพจน์งานเลี้ยงรับรองที่ผู้นำญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพในวันเสาร์ คิชิดะกล่าวว่าผู้นำประเทศต่างๆ จะเปิดตัวโครงการริเริ่มสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์รุ่นต่อไปเพื่อให้อาเซียนยังคงเป็นศูนย์กลางชั้นนำของโลกในด้านการผลิตและส่งออกยานยนต์
ญี่ปุ่นมีกำหนดเป็นเจ้าภาพการประชุมโครงการริเริ่ม Asia Zero Emission Community (AZEC) ในวันจันทร์ที่จะได้เห็นนายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบานีส ของออสเตรเลียเข้าร่วมทางออนไลน์ เจ้าหน้าที่ระบุ
โตเกียวถูกกลุ่มสิ่งแวดล้อมวิจารณ์อย่างหนักจากการจัดหาทุนสำหรับโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วเอเชีย และส่งเสริมวิธีการที่ไม่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์ที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แทนที่จะใช้พลังงานหมุนเวียน
สำหรับพม่า ที่ถูกห้ามเข้าร่วมการประชุมระดับสูงของอาเซียนนับตั้งแต่กองทัพรัฐประหารในปี 2564 ผู้นำฟิลิปปินส์กล่าวว่ามีความจำเป็นที่จะต้องจัดการกับความรุนแรงที่เลวร้ายลงและความทุกข์ยากของชาวพม่าด้วยการมีส่วนร่วมเชิงรุกของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมด.