รอยเตอร์ - ชาวต่างชาติหลายร้อยคนที่ทำงานในพม่า รวมถึงเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานสหประชาชาติ ถูกเคลื่อนย้ายไปพื้นที่ปลอดภัยแล้ว ตามการเปิดเผยของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหารวันนี้ (20)
พันธมิตรของกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลพลเรือนคู่ขนานที่สนับสนุนประชาธิปไตย ได้เปิดฉากโจมตีรัฐบาลทหารเมื่อปลายเดือนก่อน ที่ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดต่อกองทัพที่ปกครองประเทศนับตั้งแต่เข้ายึดอำนาจจากผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งในการรัฐประหารปี 2564
ชาวต่างชาติหลายร้อยคนที่ส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ติดอยู่ในพื้นที่การสู้รบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐชาน ทางชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือติดกับจีน และรัฐกะยา ทางชายแดนด้านตะวันออกติดกับไทย
จีนกล่าวว่า กำลังช่วยเหลือพาชาวต่างชาติออกจากพม่า และแจ้งต่อพลเมืองของตนให้ย้ายออกจากพื้นที่ขัดแย้ง
รัฐบาลพลเรือนพลัดถิ่นของพม่ากล่าวว่า กองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารในรัฐกะยา ได้หยุดการโจมตีชั่วคราวเพื่อให้เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ 228 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ เดินทางออกจากเมืองลอยก่อ เมืองเอกของรัฐ หลังเกิดการสู้รบในพื้นที่
“แม้ว่าเจ้าหน้าที่สหประชาชาติและเอ็นจีโอ รวมถึงสมาชิกครอบครัวสามารถเดินทางออกจากพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย แต่ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากติดอยู่ในเมืองลอยก่อ” รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ระบุในคำแถลงที่โพสต์ลงบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) หรือชื่อเดิมว่าทวิตเตอร์
NUG ระบุว่าเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ถูกนำตัวไปที่เมืองตองยี ในรัฐชาน ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหาร
โฆษกของรัฐบาลทหารไม่ได้แสดงความคิดเห็นเมื่อรอยเตอร์ติดต่อไป ขณะที่หน่วยงานของสหประชาชาติในพม่าก็ไม่สามารถติดต่อเพื่อขอความคิดเห็นได้เช่นกัน
ชาวไทยมากกว่า 250 คน ชาวฟิลิปปินส์ 6 คน และชาวสิงคโปร์ 1 คน เดินทางถึงไทยในช่วงสุดสัปดาห์หลังจากอพยพออกจากภาคเหนือของพม่าผ่านทางจีน ตามการระบุของกระทรวงการต่างประเทศของไทย
เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุว่า จีนกำลังช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ในการนำประชาชนของตนออกจากพื้นที่
“เมื่อเร็วๆ นี้ มีบางประเทศได้ขอความช่วยเหลือจากจีน ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม เราได้อำนวยความสะดวกให้พลเมืองของพวกเขาในพื้นที่ตอนเหนือของพม่าให้อพยพผ่านจีน” เหมา หนิง กล่าว
จีนที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางในพม่า ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นอันดับแรก และขอให้หยุดยิงและยุติสงครามโดยเร็วที่สุด แก้ไขความต่างผ่านการเจรจาและการปรึกษาหารือ และหลีกเลี่ยงทำให้สถานการณ์บานปลาย เหมา หนิง ระบุ
พม่าตกอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่กองทัพขับไล่รัฐบาลของอองซานซูจีในการรัฐประหารปี 2564 ที่ยุติการปฏิรูปประชาธิปไตยที่ดำเนินมาได้เพียงทศวรรษและก่อให้เกิดการประท้วงอย่างกว้างขวาง
ในพื้นที่ส่วนต่างๆ ของประเทศ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยจับอาวุธร่วมกับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ที่กำลังต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตนเองมานานหลายทศวรรษ
หนึ่งในกลุ่มที่ก่อเหตุโจมตีครั้งล่าสุดคือกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) ได้รายงานว่ามีการปะทะกันอย่างหนักในรัฐชานเมื่อสุดสัปดาห์ และกล่าวว่านักสู้บางส่วนของกลุ่มได้รับผลกระทบเมื่อกองกำลังของรัฐบาลทหารใช้ระเบิดก๊าซที่บรรจุอาวุธเคมีต้องห้ามในระดับสากล
โฆษกรัฐบาลทหารยืนยันว่ามีการต่อสู้กับ TNLA และปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องก๊าซพิษ
“พวกเขาโจมตีและฝ่ายทหารตอบโต้ กลุ่ม TNLA เผชิญกับความสูญเสียอย่างมาก และตามปกติ พวกเขาเริ่มด้วยข้อกล่าวหาว่าเราใช้ก๊าซพิษ และอื่นๆ” ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหาร กล่าว
รัฐบาลทหารยอมรับว่ากำลังเผชิญกับการโจมตีอย่างหนักจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ และสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้ที่มีประสบการณ์ทางทหารในเมืองหลวงให้เตรียมพร้อมในกรณีฉุกเฉิน.