รอยเตอร์ - รายงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชนในกัมพูชาระบุว่า ขยะจากการผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ต่างประเทศอย่างน้อย 19 ราย รวมทั้ง Adidas และ Walmart กำลังถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาของโรงงานอิฐในกัมพูชา และคนงานบางส่วนล้มป่วย
รายงานของ Cambodian League for the Promotion and Defense of Human Rights หรือที่รู้จักในชื่อย่อว่า LICADHO มาจากการเยี่ยมโรงงานอิฐ 21 แห่งในกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา และ จ.กันดาล ที่อยู่ใกล้เคียง ระหว่างเดือน เม.ย.-ก.ย. รวมถึงการสัมภาษณ์คนงานในปัจจุบันและอดีตคนงาน
รายงานพบว่า ขยะสิ่งทอก่อนการบริโภค เช่น ผ้า พลาสติก ยาง และวัสดุอื่นๆ จากแบรนด์ต่างๆ ถูกเผาที่โรงงาน 7 แห่ง เพื่อประหยัดค่าเชื้อเพลิง
“คนงานหลายคนรายงานว่าขยะสิ่งทอที่เผาไหม้ทำให้พวกเขาปวดหัวและมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และมีคนงานรายหนึ่งระบุเธอรู้สึกไม่สบายเป็นพิเศษระหว่างที่เธอตั้งครรภ์” รายงานระบุ
สินค้าหลายแบรนด์ รวมทั้ง Primarks และ Lidl ระบุว่าพวกเขากำลังสอบสวนเรื่องนี้
ขยะสิ่งทอที่เผาไหม้สามารถปล่อยสารที่เป็นพิษต่อมนุษย์หากสภาพของการเผาไหม้ไม่ได้รับการจัดการอย่างระมัดระวัง และขี้เถ้าอาจมีมลพิษในระดับสูง ตามการศึกษาภายในปี 2563 โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ที่วัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเตาเผาของโรงงานสิ่งทอในกัมพูชาที่เผาขยะสิ่งทอ และจากที่รอยเตอร์ได้เห็น
รายงานระบุว่า สารพิษเหล่านี้ยังรวมถึงไดออกซิน ที่สามารถก่อมะเร็งได้ อย่างไรก็ตาม UNDP ไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานฉบับนี้
ในรายงานอีกชิ้นหนึ่งจากปี 2561 โดยนักวิชาการจากสถาบัน Royal Holloway มหาวิทยาลัยลอนดอน ระบุว่า เศษเสื้อผ้ามักมีสารเคมีที่เป็นพิษ เช่น คลอรีนฟอกขาว ฟอร์มาลดีไฮด์ และแอมโมเนีย รวมถึงโลหะหนัก พีวีซี และเรซิน ที่ใช้ในกระบวนการย้อมและพิมพ์
คนงานในโรงงานอิฐรายงานว่า มีอาการไมเกรน เลือดกำเดาไหล และความเจ็บป่วยอื่นๆ รายงานของอังกฤษระบุ
แบรนด์ที่มีชื่ออยู่ในรายงานของ LICADHO ประกอบด้วย Adidas, C&A, LPP's Cropp and Sinsay, Disney, Gap, Old Navy, Athleta, Karbon, Kiabi, Lululemon Athletica, Lidl Stiftung & Co's Lupilu, Walmart's No Boundaries, Primark, Reebok, Sweaty Betty, Tilley Endurables, Under Armour และ Venus Fashion
Adidas ที่จ้างผลิตสินค้าจากโรงงานในกัมพูชา 16 แห่ง ระบุว่าได้เริ่มการสอบสวน เพื่อดูว่าขยะถูกเปลี่ยนเส้นทางจากเส้นทางกำจัดที่ได้รับอนุญาตไปยังเตาเผาอิฐหรือไม่
นโยบายสิ่งแวดล้อมของ Adidas ในกัมพูชาระบุว่าขยะทั้งหมดจากซัปพลายเออร์ผลิตเครื่องนุ่งห่มต้องถูกกำจัดยังโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่ได้รับอนุมัติ ที่มีการควบคุมอย่างเต็มที่ และมีการควบคุมคุณภาพอากาศ หรือไปยังศูนย์รีไซเคิลที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล บริษัทระบุ
Lidl ระบุว่าบริษัทให้ความสนใจต่อรายงานของ LICADHO และเริ่มการสอบสวนแล้ว แต่ไม่สามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้
LPP กล่าวว่า บริษัทไม่ทราบว่าขยะสิ่งทอของตนถูกเผาในเตาเผาอิฐ และได้ติดต่อกับตัวแทนที่รับผิดชอบการสั่งซื้อในกัมพูชา LPP กล่าวว่าบริษัทวางแผนที่จะจัดวันตระหนักรู้ในต้นปี 2567 สำหรับตัวแทนและโรงงานในกัมพูชา โดยมุ่งเน้นที่การจัดการขยะ
Primark ที่สินค้าของบริษัทผลิตจากโรงงาน 20 แห่งในกัมพูชา กล่าวว่า บริษัทกำลังสอบสวนปัญหานี้ ขณะที่ Sweaty Betty ไม่ได้แสดงความคิดเห็นถึงข้อค้นพบ แต่กล่าวว่าบริษัททำงานอย่างใกล้ชิดกับซัปพลายเออร์เพื่อให้แน่ใจว่าจะปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่
Tilley Endurables กล่าวว่า มีความกังวลอย่างมากกับข้อค้นพบนี้ และจะทำงานร่วมกับโรงงานที่ผ่านการตรวจสอบเท่านั้น
Tilley กล่าวว่าโรงงานที่ผลิตสินค้าได้รับการตรวจสอบจาก WRAP ที่ให้การรับรองโรงงานตามหลักการผลิตเครื่องแต่งกายอย่างมีความรับผิดชอบทั่วโลก และมุ่งมั่นที่จะทำให้แน่ใจว่ามีการจัดการขยะอย่างเหมาะสมตามกฎหมายท้องถิ่นและตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ บริษัทยังดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมและพบว่าโรงงานใช้บริษัทกำจัดขยะที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมกัมพูชา แต่ไม่สามารถมองเห็นได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับขยะที่ถูกรวบรวมไปแล้ว
ส่วนแบรนด์อื่นๆ ไม่ได้ตอบกลับคำร้องขอความคิดเห็นของรอยเตอร์ ขณะที่ WRAP กระทรวงสิ่งแวดล้อมกัมพูชา และบริษัทรวบรวมขยะไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความเห็นจากรอยเตอร์.