xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทจีนขายไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 90 MW ให้พม่า สร้างโซลาร์ฟาร์ม 3 แห่งใน "มัณฑะเลย์-มะกวย"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โซลาร์ฟาร์ม 1 ใน 3 แห่ง ของบริษัท Power China Resources ที่กระทรวงไฟฟ้าพม่า เพิ่งเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าจากบริษัทนี้ (ภาพจากเพจสถานทูตจีนประจำพม่า)
MGR Online - กระทรวงไฟฟ้าพม่าเซ็นสัญญาซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ Power China Resources บริษัทจีนที่มาสร้างโซลาร์ฟาร์ม 3 แห่ง อยู่ในภาคมัณฑะเลย์และมะกวย กำลังการผลิตรวม 90 เมกะวัตต์

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ที่กรุงเนปีดอ กระทรวงไฟฟ้าพม่า ได้เซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าจากโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3 แห่ง ของบริษัท Power China Resources ได้แก่ โรงไฟฟ้าจีโอ่งจีวะ โรงไฟฟ้ากินดา และโรงไฟฟ้าเซโต๊ะตะยา โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง มีกำลังการผลิตแห่งละ 30 เมกะวัตต์ รวม 90 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในภาคมะกวย และภาคมัณฑะเลย์

ผู้ร่วมในพิธีเซ็นสัญญาครั้งนี้ ประกอบด้วย อู เหญี่ยน ทูน รัฐมนตรีกระทรวงไฟฟ้า นายเฉิน ไห่ (Chen Hai) เอกอัครราชทูตจีนประจำพม่า และ Jiang Xingcheng ผู้จัดการทั่วไปของโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 3 แห่ง

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จีโอ่งจีวะ กินดา และเซโต๊ะตะยา เป็นหนึ่งในความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างจีนและพม่า เพื่อพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชาชนพม่าทั่วประเทศ

พิธีเซ็นสัญญาซื้อขายไฟจากโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3 แห่ง ของบริษัท Power China Resources ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเนปีดอ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ในพิธีเซ็นสัญญา เอกอัครราชทูตจีนยังได้พบปะพูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงไฟฟ้าพม่า เพื่อนำเสนอผลการประชุม 1 แถบ 1 เส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation) ครั้งที่ 3 ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2566 รวมถึงบอกเล่าความคืบหน้าแผนเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าจีน-พม่า ซึ่งเป็นแขนงงานสำคัญอันหนึ่งที่มีบทบาทต่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า

จีนมีแผนสร้างโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าข้ามประเทศจากฝั่งจีนเข้ามาในพม่า เพื่อป้อนไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ของพม่า นอกจากนี้ จีนยังมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าในพม่าอีกหลายแห่งและหลายประเภท ทั้งเขื่อนผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

ปัจจุบัน ภาคมัณฑะเลย์ และภาคมะกวยถูกใช้เป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หลายแห่ง โดยโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด ได้แก่ โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์มินบู ในเมืองซากู จังหวัดมินบู ภาคมะกวย ดำเนินการโดยบริษัท GEP Myanmar ที่ถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท Green Earth Power จากประเทศไทย มีกำลังการผลิตรวม 170 เมกะวัตต์ แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 เฟส เฟสแรกที่เปิดไปแล้วเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2562 มีกำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ส่วนเฟสที่ 2 และ 3 มีกำลังการผลิตเฟสละ 40 เมกะวัตต์ และเฟสสุดท้ายมีกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ คาดว่าเมื่อโรงไฟฟ้ามินบูสร้างเสร็จครบทุกเฟสจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึงปีละ 350 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง และสนองความต้องการใช้ให้แก่ประชากรพม่าได้ถึง 210,000 ครัวเรือน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2564 ได้มีพิธีเปิดโรงไฟฟ้าตะเปวะ ตั้งอยู่ที่บ้านตะเปวะ เมืองตาสี่ ภาคมัณฑะเลย์ กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้วันละ 2 แสนกิโลวัตต์/ชั่วโมง หรือปีละ 70.599 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง ก่อสร้างและดำเนินการโดยบริษัท Clean Power Energy (CPE)

ตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า จีนมีแผนสร้างทางรถไฟเชื่อมจากชายแดนหมู่เจ้ ภาคเหนือของรัฐชาน ผ่านภาคมัณฑะเลย์ และมะกวย เพื่อไปออกมหาสมุทรอินเดียที่เมืองเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่

โดยที่รัฐยะไข่ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 กระทรวงไฟฟ้าพม่า ได้เซ็นบันทึกข้อตกลง (MOA) กับบริษัท Primus Advanced Technologies (Primus) บริษัท Asia Ecoenergy Development (AED) และบริษัท Yunnan Machinery and Equipment Import and Export (YMEC) ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานลม 3 แห่ง กำลังการผลิตรวม 360 เมกะวัตต์ โดย Primus เป็นบริษัทสัญชาติพม่า ส่วน AED เป็นบริษัทที่มีฐานอยู่ในฮ่องกง และ YMEC เป็นบริษัทจากจีน

โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย โรงงานขนาดกำลังผลิต 150 เมกะวัตต์ ที่เมืองอาน จังหวัดอาน โรงไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 110 เมกะวัตต์ ที่เมืองตานตวย จังหวัดตานตวย และโรงไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 100 เมกะวัตต์ ที่เมืองกั๊วะ จังหวัดตานตวย

ทั้ง 3 โรงงานจะผลิตไฟฟ้าป้อนให้ความต้องการใช้ภายในประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของรัฐบาลที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการใช้ทั่วประเทศ ในปี 2573 โรงงานทั้ง 3 แห่ง จะเริ่มก่อสร้างโครงการระยะแรก กำลังผลิตแห่งละ 50 เมกะวัตต์ ในเดือนธันวาคม 2566 และคาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าสู่โครงข่ายสายส่งของพม่าได้ในปี 2568.


กำลังโหลดความคิดเห็น