xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเวียดนามวิจารณ์ขรมโครงการก่อสร้างใกล้อ่าวฮาลองทำมรดกโลกเสื่อมโทรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - โครงการอาคารที่พักอาศัยขนาดใหญ่ที่กำลังสร้างขึ้นใกล้กับอ่าวฮาลองของเวียดนาม ก่อกระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชนวันนี้ (6) ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มสูงเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจทำให้แหล่งมรดกโลกของยูเนสโกเสื่อมโทรมลง

อ่าวฮาลองที่มีชื่อเสียงจากท้องทะเลสีฟ้าสด เกาะหินปูนสูงตระหง่านปกคลุมด้วยป่าดิบชื้นกระจายอยู่ทั่วบริเวณ เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่สุดของเวียดนาม ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากกว่า 7 ล้านคนในปีที่ผ่านมา

ชายฝั่งและเมืองโดยรอบอ่าวได้รับการพัฒนาอย่างมาก แต่ภาพถ่ายที่ปรากฏในสื่อของรัฐเมื่อวันอาทิตย์ (5) แสดงให้เห็นสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่กลางผืนน้ำ ถัดจากภูเขาหินปูนอันงดงามของอ่าวบ๊ายตื๋อลอง (Bai Tu Long) ที่อยู่ติดกับฮาลอง

บริษัท Do Gia Capital Limited เจ้าของโครงการกำลังเตรียมพื้นที่สำหรับก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยและโรงแรมบนพื้นที่มากกว่า 318,000 ตารางเมตร หนังสือพิมพ์เตี่ยนฟองระบุ

หนังสือพิมพ์รายงานว่า สถานที่ก่อสร้างอยู่ในเขตแนวกันชนของอ่าวฮาลอง ที่ยูเนสโกระบุว่าเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับปกป้องทรัพย์สินมรดกโลกอีกชั้นหนึ่ง

เมื่อการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ พื้นที่ดังกล่าวจะประกอบด้วยวิลล่าและบ้าน 451 หลัง โรงแรมสูง 7 ชั้น และพื้นที่การค้าและบริการ หนังสือพิมพ์เตี่ยนฟองระบุ

เจือง ก๊วก บิ่ง อดีตรองหัวหน้าแผนกมรดก กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ขอบเขตของอ่าวฮาลองถูกละเมิดอย่างร้ายแรง รายงานระบุ

ในโพสต์เฟซบุ๊กที่ได้รับการกดไลก์และแชร์นับพันครั้ง เหวียน ซวน เดียน นักวิจัยด้านประวัติศาสตร์ชื่อดังระบุว่าโครงการดังกล่าวเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อแหล่งมรดกโลก และแสดงความเห็นว่าเกาะหินปูนเหล่านี้กลายเป็นของเล่นของคนรวยหน้าใหม่

จาง เหวียน นักอนุรักษ์ชื่อดังเขียนบนเฟซบุ๊กว่า ‘ฆ่านก ฆ่าสัตว์ ฆ่าทุกสิ่งทุกอย่าง’

“ภูเขากลายเป็นสวนสนุกราคาถูก ถูกทาสีเขียวสีแดง ท้องทะเลและผืนทรายถูกเอาไปใช้ประโยชน์ สถานที่สวยงามถูกขายทอดตลาด” จาง เหวียน ระบุ

หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เจ้าหน้าที่เมืองเกิ๋มฝา ใกล้กับสถานที่ก่อสร้างระบุว่าพวกเขาได้ขอให้นักลงทุนระงับการก่อสร้าง และการตรวจสอบพื้นที่จะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 10 พ.ย. ทั้งนี้แผนการก่อสร้างได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการในปี 2564

การเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองฮาลอง ที่ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของเคเบิลคาร์ สวนสนุก โรงแรมหรู และบ้านใหม่หลายพันหลัง ได้ทำลายระบบนิเวศของอ่าวอย่างรุนแรง

นักอนุรักษ์ประเมินว่าเดิมทีอ่าวมีปะการังประมาณ 234 ชนิด แต่ขณะนี้เหลือประมาณครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาใหญ่จากทั้งมนุษย์และขยะพลาสติก

สำนักงานยูเนสโกในเวียดนามและคณะกรรมการบริการจัดการอ่าวฮาลองไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นจากเอเอฟพีในทันที

เมื่อไม่นานนี้ สื่อของรัฐได้รายงานเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอื่นๆ อีกหลายโครงการที่คุกคามพื้นที่คุ้มครองทั่วเวียดนาม.
กำลังโหลดความคิดเห็น