เอเอฟพี - กองทัพพม่าใช้ระเบิดไม่นำวิถีขนาดใหญ่ทิ้งลงมาทางอากาศโจมตีค่ายพักพิงของผู้พลัดถิ่นในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ องค์การนิรโทษกรรมสากลระบุวันนี้ (13)
รัฐบาลทหารถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุโจมตีนองเลือดกับพลเรือนหลายหน ในขณะที่พวกเขาพยายามปราบปรามการต่อต้านการรัฐประหารในปี 2564 และเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในคืนวันจันทร์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 29 คน และได้รับบาดเจ็บ 56 คน ท่ามกลางซากปรักหักพังของค่ายผู้พลัดถิ่นแห่งหนึ่งใกล้เมืองหล่ายซา ติดชายแดนจีน ตามการระบุของกองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIA)
ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธขององค์การนิรโทษกรรมสากลวิเคราะห์ภาพถ่ายและวิดีโอหลังการโจมตีระบุว่า แสดงให้เห็นถึงหลักฐานของการระเบิดครั้งใหญ่เพียงครั้งเดียวที่ทำลายสิ่งปลูกสร้างหลายสิบหลัง รวมทั้งโบสถ์ โรงเรียนอนุบาล และบ้านเรือน และเริ่มเกิดเพลิงไหม้
“ขนาดของปล่องและความเสียหายที่สังเกตเห็นได้นั้นสอดคล้องกับระเบิดทางอากาศขนาดใหญ่ที่สุดที่ทราบกันว่าอยู่ในคลังของกองทัพพม่า องค์การนิรโทษกรรมสากลเชื่อว่ากองทัพพม่าใช้ระเบิดไม่นำวิถี ซึ่งเป็นอาวุธที่ไม่เที่ยงตรงแม่นยำ ไม่เหมาะสมที่จะใช้ในบริเวณใกล้กับพลเรือน” กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุ
คำแถลงระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเทียบได้กับอาชญากรรมสงคราม
“คลื่นระเบิดก่อให้เกิดแรงดันอย่างมหาศาลและการบาดเจ็บของเหยื่อ ทั้งบาดแผลรุนแรงที่ศีรษะ บาดแผลฉีกขาดที่อวัยวะต่างๆ แขนขาขาดและแหลกสลาย” กลุ่มสิทธิมนุษยชน ระบุ
รัฐบาลทหารกล่าวว่าระเบิดเป็นของกลุ่มกบฏในพื้นที่ที่ถูกทำให้ระเบิด โดยไม่ได้ให้หลักฐานใด
แต่องค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวว่า คำอธิบายของกองทัพขัดแย้งกับคำให้การของพยานที่สอดคล้องกัน ซึ่งระบุว่าเหตุระเบิดเป็นจุดเริ่มต้นของการโจมตีที่ประสานงานกัน
“ระเบิดตกลงบนทุ่งขนาดใหญ่ที่มียานพาหนะสัญจรเป็นประจำ ไม่น่าจะเป็นพื้นที่จัดเก็บแอมโนเนียมไนเตรต” กลุ่มสิทธิมนุษชน ระบุ
KIA ควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐกะฉิ่น ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ และปะทะกับกองทัพพม่ามาเป็นเวลาหลายทศวรรษ
ภูมิภาคนี้มีการต่อสู้ดุเดือดรุนแรงนับตั้งแต่รัฐประหาร และรัฐบาลทหารกล่าวหากลุ่มกบฏว่าฝึกกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านการปกครองของทหาร
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า เขารู้สึกตระหนกตกใจกับเหตุการณ์ดังกล่าว และผู้ที่อยู่เบื้องหลังจะต้องรับผิดชอบ.