xs
xsm
sm
md
lg

จนท.สหประชาชาติขอสหรัฐฯ บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรกับรัฐบาลทหารพม่าให้เข้มงวดขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนในพม่าของสหประชาชาติเรียกร้องให้สหรัฐฯ เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อผู้ปกครองทหารของประเทศให้เข้มงวดยิ่งขึ้น ที่รวมถึงแหล่งรายได้หลักของพวกเขาซึ่งก็คือรัฐวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซ

ทอมแอนดรูว์ส ผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติอดีตสมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ ยังกล่าวด้วยว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่อย่างน้อยที่สุดวอชิงตันต้องรักษาระดับการสนับสนุนด้านมนุษยธรรมต่อเหยื่อของรัฐบาลทหารทั้งในและนอกพม่า

แอนดรูว์สกล่าวกับคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของสภาคองเกรสสหรัฐฯ ว่าเขารู้สึกตระหนกจากรายงานที่ระบุว่าผู้บริจาคบางรายรวมถึงสหรัฐฯ อาจลดการสนับสนุนผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่หลบหนีออกจากพม่า และกล่าวว่าแผนตอบโต้ร่วมที่รวมถึงการปันส่วนอาหารสำหรับเด็กชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศได้รับทุนเพียง 32% ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม แอนดรูว์สได้กล่าวชื่นชมวอชิงตันสำหรับการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อธนาคาร Myanmar Foreign Trade Bankและธนาคาร Myanma Investment and Commercial Bank ในเดือน มิ.ย.แต่เสริมว่ายังจำเป็นต้องดำเนินการมากขึ้นกว่านี้

“เราจำต้องมีมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม ซึ่งผมขอเรียกร้องให้สหรัฐฯ เข้าร่วมกับสหภาพยุโรป และบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรโดยทันทีต่อแหล่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุดของรัฐบาลทหารคือรัฐวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซพม่า” แอนดรูว์ส กล่าว

“หากคุณสามารถหยุดเงินได้คุณก็สามารถตัดความสามารถของพวกเขาในการกระทำสิ่งโหดร้ายเหล่านี้ต่อไปได้” แอนดรูว์ส กล่าวอ้างถึงการเสียชีวิตของพลเรือนด้วยน้ำมือของทหาร

แอนดรูว์สยังเรียกร้องให้วอชิงตันทำงานกับประเทศอื่นๆ เพื่อขัดขวางการเข้าถึงอาวุธของรัฐบาลทหาร

เมื่อเดือนที่ผ่านมา วอชิงตันขยายการคว่ำบาตรต่อพม่าให้ครอบคลุมบริษัทหรือบุคคลต่างชาติที่ช่วยเหลือรัฐบาลทหารในการจัดหาเชื้อเพลิงอากาศยานที่ใช้ในการโจมตีทางอากาศ ขณะเดียวกัน ประเมินว่าทหารได้สังหารพลเรือนไปมากกว่า 3,900 คนนับตั้งแต่เข้ายึดอำนาจในการรัฐประหารปี 2564

ในเดือน ม.ค.สหรัฐฯ กำหนดมาตรการคว่ำบาตรกับกรรมการผู้จัดการและรองกรรมการผู้จัดการบริษัท Myanma Oil and Gas Enterprise แต่ยังไม่ดำเนินการใดๆ กับบริษัทแม้กลุ่มสิทธิมนุษยชนและผู้เห็นต่างจะเรียกร้องก็ตาม

เจ้าหน้าที่ทหารพม่าไม่สนใจผลกระทบจากการคว่ำบาตรเหล่านั้น และกล่าวว่าการโจมตีทางอากาศของพวกเขามุ่งเป้าที่กลุ่มก่อความไม่สงบ

แอนดรูว์สกล่าวในรายงานเดือน พ.ค.ว่าทหารพม่านำเข้าอาวุธและวัสดุต่างๆ รวมมูลค่าอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่รัฐประหาร และยังเรียกร้องให้รัสเซียและจีนให้ความช่วยเหลือในการดำเนินการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม.
กำลังโหลดความคิดเห็น