MGR Online - คณะกรรมการบริหารสามเหลี่ยมทองคำ ตรวจสอบป้ายร้านค้า ร้านอาหาร ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ พบเกือบทั้งหมดผิดระเบียบ ไม่มีตัวอักษรลาว หรือใช้ภาษาอื่นโดดเด่นกว่าภาษาลาว สั่งเอาจริงกับเจ้าของกิจการที่ฝ่าฝืนไม่ยอมแก้ไข มีสิทธิถูกลงโทษถึงขึ้นปิดกิจการ
วานนี้ (5 ก.ย.) คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ได้รายงานผลการตรวจสอบป้ายร้านค้า ร้านอาหารของผู้ประกอบการที่อยู่ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ ร่วมกับคณะกรรมการควบคุมเขตเศรษฐกิจพิเศษแขวงบ่อแก้ว ได้ลงพื้นที่สำรวจตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2566 เป็นต้นมา พบว่าจากจำนวน 91 ป้ายที่ถูกตรวจเป็นป้ายที่มีเนื้อหาผิดไปจากระเบียบที่กำหนดไว้ถึง 85 ป้าย
คณะผู้ตรวจสอบได้ยึดกฎเกณฑ์ตามระเบียบว่าด้วยป้าย ฉบับที่ 50/สพข. ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2561 โดยป้ายที่ถูกพบว่าผิดระเบียบ เช่น ไม่มีตัวอักษรภาษาลาว ใช้ตัวอักษรภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาจีน ภาษาไทย ใหญ่กว่าภาษาลาว เนื้อหาภาษาลาวที่เขียนไว้ในป้ายผิดไปจากอักขรวิธี รวมถึงเนื้อหาที่เขียนไว้ในป้ายไม่ตรงกับทะเบียนวิสาหกิจ
ขณะนี้มีเจ้าของกิจการที่ติดตั้งป้ายผิดระเบียบมาติดต่อกับคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว 15 ราย ได้ถูกว่ากล่าวตักเตือนและให้ไปแก้ไขเนื้อหาในป้ายให้ถูกต้อง ส่วนผู้ประกอบการรายใดที่ยังไม่มาติดต่อ หรือยังคงฝ่าฝืนใช้ป้ายเหล่านั้นต่อไป คณะกรรมการบริหารจะมีมาตรการลงโทษ ตั้งแต่การปรับ สั่งรื้อป้ายทิ้ง ไปจนถึงการสั่งให้ร้านเหล่านั้นหยุดกิจการ
เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำเป็นโครงการลงทุนของกลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำจากจีน ที่ได้รับสัมปทานสร้างเมืองใหม่ขนาดใหญ่ขึ้นบริเวณริมแม่น้ำโขงในเขตเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ตรงข้ามกับอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และเมืองท่าขี้เหล็ก รัฐชาน ธุรกิจส่วนใหญ่ที่อยู่ในนี้เป็นกิจการบันเทิงครบวงจร มีจุดขายคือกาสิโนเพื่อดึงดูดกลุ่มนักเสี่ยงโชคจากจีนให้เดินทางมาท่องเที่ยว
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 กลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำได้ออกหนังสือแจ้งการ เลขที่ 081/ดงค. ส่งถึงผู้ประกอบการ เจ้าของร้านค้า ร้านอาหาร และพ่อค้าแม่ค้าทุกรายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีเนื้อหาดังนี้
1.สินค้าและค่าบริการทั้งหมดที่มีเครื่องหมายการค้าอย่างชัดเจนภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ต้องระบุราคาเป็นเงินสกุลกีบ โดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราอ้างอิงของธนาคารแห่ง สปป.ลาว
2.กิจการ ร้านค้าทุกแห่งต้องติดป้ายที่มีข้อความว่า “ส่งเสริมการบริโภคและใช้เงินกีบ” เป็นภาษาจีนและภาษาลาว โดยเจ้าของกิจการและร้านค้าสามารถมารับป้ายดังกล่าวได้ที่ห้อง 103 สำนักงานสภาบริหาร เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ
3.หากกิจการ ร้านค้า หรือบุคคลใดไม่ยอมรับเงินกีบในการชำระค่าสินค้าและบริการ และมีเจ้าหน้าที่ของแขนงการที่เกี่ยวข้องไปตรวจพบ จะต้องถูกลงโทษถึงขั้นสั่งให้ยกเลิกกิจการและต้องจ่ายค่าปรับ
การออกหนังสือแจ้งการฉบับนี้ เป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.วิไล หล้าคำฟอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันความสงบ ที่ได้เดินทางขึ้นไปประชุมกับคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ก่อนหน้านั้น 1 วัน (15 มิ.ย.2566) และได้มอบนโยบายและกำชับให้ภายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษต้องใช้แต่เงินกีบในการซื้อขาย ชำระค่าสินค้าและบริการ ตามนโยบายและการรณรงค์ของรัฐบาลที่ให้ทั่วประเทศลาวใช้แต่เงินกีบ เพื่อกระตุ้นให้เงินกีบของลาวแข็งค่าขึ้น
ในที่ประชุม นายบุนทอง แสงสีกอง หัวหน้าคณะกรรมการควบคุมเขตเศรษฐกิจพิเศษแขวงบ่อแก้ว รายงานว่า ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ของลาวจำนวนหนึ่งได้ขยายเข้ามาตั้งสำนักงานและสาขาอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมการเงิน การนำเข้า-ส่งออกสินค้า ซึ่งจะทำให้การควบคุมด้านการเงิน เงินตรา และการนำเข้าเงินทุนจากต่างประเทศได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ได้ทำพิธีเปิดสำนักงานตัวแทนขึ้นภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เพื่อควบคุมการหมุนเวียนของเงินตรา ธุรกรรมการเงิน และระบบการชำระเงินที่เกิดขึ้นภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย.