xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพยุโรปติดตามสถานการณ์สิทธิแรงงานในพม่า หลังแบรนด์แฟชั่นทยอยออกจากประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - โฆษกของคณะกรรมาธิการยุโรประบุว่า สหภาพยุโรปกำลังประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและแรงงานในพม่า ความเคลื่อนไหวที่เป็นการเปิดทางต่อการเปลี่ยนแปลงสิทธิพิเศษทางการค้าที่อาจเป็นไปได้ตามสถานการณ์ของประเทศ

โครงการ Everything But Arms เป็นโครงการที่สหภาพยุโรปให้สิทธิพิเศษยกเว้นการเก็บภาษีและยกเลิกการกำหนดโควตานำเข้าสินค้าทั้งหมด ยกเว้นอาวุธและกระสุนเข้ามาในกลุ่มจากประเทศด้อยพัฒนา 47 ประเทศ รวมถึงพม่า

อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าของพม่าที่เป็นนายจ้างหลักในประเทศยากจนแห่งนี้ ส่งออกเสื้อผ้าให้แบรนด์ต่างๆ ของยุโรป รวมถึง Adidas H&M และ Inditex เจ้าของแบรนด์ Zara

แต่เมื่อไม่นานนี้ H&M และ Inditex ต่างกล่าวว่าพวกเขาจะหยุดจัดหาสินค้าจากประเทศที่รัฐบาลทหารจับกุมผู้นำสหภาพแรงงานและมีรายงานการละเมิดสิทธิแรงงานเพิ่มมากขึ้น

“ขณะนี้สหภาพยุโรปกำลังประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานในพม่าภายใต้กรอบการมีส่วนร่วมของ EBA” โฆษกของคณะกรรมาธิการระบุ

“ด้วยเหตุนี้ สหภาพยุโรปจะยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและสามารถปรับนโยบายได้หากจำเป็น” โฆษกกล่าว

โครงการ EBA สนับสนุนการดำรงชีวิตของคนงานที่เปราะบางหลายพันคนในพม่า ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง โฆษกกล่าวเสริม

ตั้งแต่ปี 2556 สหภาพยุโรปได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการต่างๆ เพื่อปรับปรุงสภาพแรงงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของพม่า โดยโครงการล่าสุดคือ MADE ที่มีแบรนด์ของยุโรป 18 แบรนด์ร่วมเป็นสมาชิก

รัฐบาลทหารเข้ายึดอำนาจในพม่าในเดือน ก.พ.2564 ส่งผลให้ประเทศเข้าสู่วิกฤตทางการเมืองและมนุษยธรรม

บรัสเซลส์เริ่มต้นสิ่งที่เรียกว่า ‘การมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้น’ กับพม่าในปี 2560 เนื่องจากข้อบกพร่องในด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน ที่รวมถึงการเพิ่มการติดตามและการมีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ และสามารถนำไปสู่การถอนสิทธิพิเศษทางการค้า.
กำลังโหลดความคิดเห็น