รอยเตอร์ - H&M ผู้ค้าปลีกสินค้าแฟชั่นรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ตัดสินใจที่จะค่อยๆ ยุติการจัดหาสินค้าจากพม่า บริษัทเผยกับรอยเตอร์ หลังรายงานการละเมิดสิทธิแรงงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปของประเทศเพิ่มสูงขึ้น
H&M กลายเป็นแบรนด์ล่าสุดที่ตัดสัมพันธ์กับซัปพลายเออร์ในพม่า หลังบริษัท Inditex เจ้าของแบรนด์ Zara บริษัท Primark บริษัท Marks&Spencer และบริษัทอื่นๆ ได้ประกาศยุติไปก่อนหน้านี้
ขณะที่ตระหนักถึงความท้าทายที่ต้องเผชิญเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาไม่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการละเมิดที่เกิดขึ้น ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนกล่าวว่าการตัดสินใจออกจากประเทศอาจทำให้คนงานในประเทศแย่ลง
การรัฐประหารในเดือน ก.พ.2564 ทำให้พม่าเข้าสู่วิกฤตทางการเมืองและมนุษยธรรม ความรุนแรงในวงกว้างยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอีกด้วย
“หลังจากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ตอนนี้เราได้ตัดสินใจที่จะค่อยๆ ยุติการดำเนินงานในพม่า” H&M กล่าว
“เราติดตามการพัฒนาล่าสุดในพม่าอย่างใกล้ชิดและเรามองเห็นความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในการดำเนินงานตามมาตรฐานและข้อกำหนดของเรา” H&M ระบุ
ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลพม่าไม่ได้แสดงความเห็นในทันทีเกี่ยวกับการถอนตัวออกจากประเทศของ H&M
H&M ระบุก่อนหน้านี้ว่ากำลังตรวจสอบข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานที่โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในพม่าที่จัดหาสินค้าให้บริษัท หลังจากเอ็นจีโอในอังกฤษระบุว่าการละเมิดที่ถูกกล่าวหานั้นยังรวมถึงการโกงค่าจ้างและการบังคับทำงานล่วงเวลาที่เพิ่มทวีคูณนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร
ในรายงานที่เผยแพร่กลางสัปดาห์ ศูนย์ธุรกิจและทรัพยากรสิทธิมนุษยชน (BHRRC) กล่าวว่าได้ติดตามคดี 156 คดี ที่กล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของพม่าในช่วงระหว่างเดือน ก.พ.2565 ถึงเดือน ก.พ.2566 เพิ่มขึ้นจาก 56 คดีเมื่อปีก่อน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการเสื่อมถอยของสิทธิแรงงานในประเทศ
ทั้งนี้ รอยเตอร์ไม่ได้ตรวจสอบข้อกล่าวหาอย่างอิสระ H&M กล่าวว่าการตัดสินใจที่จะออกจากประเทศไม่ได้เชื่อมโยงกับการเผยแพร่รายงาน แต่เป็นผลจากการประเมินสถานการณ์ของตนเอง
ภาคส่วนตัดเย็บเสื้อผ้าเป็นนายจ้างหลักในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ ที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิงที่ผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าให้แบรนด์หลักในโรงงานมากกว่า 500 แห่ง โดย H&M มีโรงงาน 39 แห่งในพม่าที่จัดหาสินค้าให้กับบริษัท
การส่งออกเครื่องนุ่งห่มจากพม่าลดลงในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 ธนาคารโลกระบุในรายงานเดือน มิ.ย.
วิคกี้ โบว์แมน อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำพม่าและผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจที่มีความรับผิดชอบในพม่าระบุว่ารู้สึกเสียใจกับการประกาศของ H&M เนื่องจากจะส่งผลเสียต่อแรงงานหญิงหลายพันคนในพม่า แต่ในแง่ของการจับกุมผู้จัดการสหภาพแรงงาน รวมถึงสมาชิกขององค์กรด้านสิทธิแรงงานที่เพิ่มขึ้น การตัดสินใจของ H&M เช่นนี้จึงไม่น่าแปลกใจ
นอกจากภาคส่วนสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มแล้ว ยังมีบริษัทขนาดใหญ่ในภาคส่วนอื่นๆ ถอนตัวออกจากพม่าเช่นกัน เช่น บริษัทน้ำมันรายใหญ่อย่าง TotalEnergies และ Chevron ที่ประกาศถอนตัวตั้งแต่ปีก่อน.