xs
xsm
sm
md
lg

H&M ตรวจสอบข้อกล่าวหาแรงงานถูกละเมิดสิทธิในโรงงานพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - H&M ผู้ค้าปลีกแฟชั่นรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก กำลังตรวจสอบ 20 ข้อกล่าวหาการละเมิดแรงงานที่โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในพม่า ไม่กี่สัปดาห์หลังจากบริษัท Inditex เจ้าของแบรนด์ Zara ระบุว่าบริษัทกำลังยุติการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้

กลุ่มรณรงค์สิทธิมนุษยชนในอังกฤษได้ติดตามคดี 156 คดี ที่กล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิคนงานในในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของพม่าตั้งแต่เดือน ก.พ.2565 ถึงเดือน ก.พ.2566 เพิ่มขึ้นจาก 56 คดีในปีก่อนหน้า ซึ่งบ่งชี้ถึงการเสื่อมถอยของสิทธิคนงานนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในเดือน ก.พ.2564

รายงานของศูนย์ธุรกิจและทรัพยากรสิทธิมนุษยชน (BHRRC) ระบุว่า การลดค่าจ้างและการโกงค่าจ้าง เป็นข้อกล่าวหาที่ถูกรายงานบ่อยที่สุด รองลงมาคือการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม สภาพการทำงานที่ไร้มนุษยธรรม และการบังคับทำงานล่วงเวลา

“ทุกคดีที่เกิดขึ้นในรายงานของ BHRRC กำลังได้รับการติดตามและที่จำเป็นต้องแก้ไขผ่านทีมงานท้องถิ่นของเราในพื้นที่และด้วยความร่วมมือใกล้ชิดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง” H&M ระบุในคำแถลง

“เรามีความกังวลอย่างยิ่งต่อการพัฒนาล่าสุดในพม่า และเราเห็นความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในการดำเนินการตามมาตรฐานและข้อกำหนดของเรา” ผู้ค้าปลีกสัญชาติสวีเดน ระบุ

BHRRC ได้ติดตามข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิคนงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของพม่ามาตั้งแต่รัฐบาลทหารเข้ายึดอำนาจ ที่ผลักประเทศสู่วิกฤตทางการเมืองและมนุษยธรรม

BHRRC ระบุว่าพวกเขาติดตามการละเมิดผ่านแหล่งข่าวต่างๆ เช่น ผู้นำสหภาพแรงงาน สื่อต่างประเทศ และสื่อท้องถิ่น เช่น ข่าวแรงงานพม่า และพยายามตรวจสอบรายงานด้วยการตรวจสอบกับแบรนด์สินค้าและการสัมภาษณ์คนงาน

รายงานระบุว่ามีการละเมิดที่ถูกกล่าวหา 21 คดีที่เชื่อมโยงกับซัปพลายเออร์ของ Inditex ในช่วงระยะเวลา 2 ปี และ 20 คดีเชื่อมโยงกับซัปพลายเออร์ของ H&M ทั้งนี้ บริษัท Inditex ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับรายงาน

โฆษกของรัฐบาลทหารพม่าไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความเห็นเรื่องข้อค้นพบดังกล่าว ขณะที่สมาคมการผลิตเครื่องนุ่งห่มพม่าไม่ได้ตอบกลับคำร้องขอความเห็นในเรื่องนี้เช่นกัน


การตัดสินใจของบริษัท Inditex ที่จะตัดความสัมพันธ์กับซัปพลายเออร์ในพม่ามีขึ้นหลังจากบริษัท Primark และบริษัท Marks & Spencer ประกาศแผนที่จะถอนตัวออกจากพม่าเมื่อปีก่อน ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจทำให้คนงานตัดเย็บเสื้อผ้าย่ำแย่ลง

Tendam ผู้ค้าปลีกแฟชั่นของสเปน ยังมีแผนที่จะหยุดจัดหาสินค้าจากพม่าเช่นกัน ตามข้อมูลการสำรวจของ BHRRC

“เรามีแผนที่จะออกจากประเทศนี้ แต่ยังไม่ได้ประกาศ” Tendam ระบุ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดถึงเหตุผล และ Tendam ไม่ได้ตอบกลับทันทีต่อคำร้องขอความเห็นจากรอยเตอร์

บริษัท Primark กล่าวกับรอยเตอร์ว่าบริษัทคาดว่าคำสั่งซื้อสุดท้ายของบริษัทจากซัปพลายเออร์ในพม่าจะส่งมาถึงก่อนสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกัน ระหว่างที่บริษัทกำลังดำเนินการเพื่อถอนตัวออกจากประเทศ บริษัทได้เพิ่มขนาดทีมจริยธรรมทางการค้าเป็น 2 เท่า เพื่อให้บริษัทสามารถเยี่ยมโรงงานที่ยังทำงานด้วยได้สม่ำเสมอขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลายบริษัทที่ยังคงจัดหาสินค้าจากพม่าได้เพิ่มการตรวจสอบซัปพลายเออร์

Bestseller บริษัทแฟชั่นจากเดนมาร์ก เพิ่มจำนวนพนักงานในสำนักงานพม่าจาก 3 เป็น 11 คน ตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร บริษัทระบุในรายงานการสำรวจ

H&M, Bestseller, และ Tendam เป็นหนึ่งใน 18 แบรนด์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ MADE ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ที่มีเป้าหมายปรับปรุงสภาพของแรงงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของพม่า

จุดยืนของสหภาพยุโรปคือบริษัทต่างๆ ควรจัดหาสินค้าจากพม่าต่อไป เนื่องด้วยอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้านั้นเป็นนายจ้างหลักที่มีโรงงานมากกว่า 500 แห่งผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าให้แบรนด์ใหญ่ๆ

ทั้งนี้ ซีอีโอของหอการค้ายุโรปในพม่ากล่าวว่า การมีส่วนร่วมในฐานะบริษัทในการหารือกับกลุ่มสิทธิแรงงานท้องถิ่นและสหภาพแรงงานเกี่ยวกับค่าจ้างและสภาพแรงงาน ทำให้พวกเขาสามารถต่อรองได้ แต่หากออกจากประเทศ ก็ไม่สามารถที่จะมีอิทธิพลต่อสภาพท้องถิ่นได้

วิคกี้ โบว์แมน อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำพม่า และผู้อำนวยการศูนย์พม่าเพื่อธุรกิจที่รับผิดชอบ กล่าวว่า แบรนด์ต่างประเทศที่อยู่ภายใต้แรงกดดันให้หยุดซื้อสินค้าจากพม่า มีแนวโน้มที่จะจัดหางานที่มั่นคงและดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิได้เช่นกัน

“หากออกจากประเทศไป งานจะหายไปหมด หรือโรงงานต่างๆ แย่งกันรับคำสั่งซื้อจากตัวแทนซื้อที่สนใจเพียงแค่แรงงานราคาถูกและไม่ห่วงเรื่องสภาพโรงงาน” โบว์แมน กล่าวกับรอยเตอร์.
กำลังโหลดความคิดเห็น