xs
xsm
sm
md
lg

"พม่า-รัสเซีย" จับมือเปิดหลักสูตร ป.ตรี ด้านปรมาณู กรุยทางเรียนต่อโทเพิ่มที่แดนหมีขาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดร.อ่องเซยะ รองรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พม่า กล่าวเรื่องการเปิดหลักสูตรปริญญาตรีด้านปรมาณู ระหว่างเปิดเทศกาลวิทยาศาสตร์ 2023 ที่กรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566
MGR Online - เริ่มเรียนปีนี้ปีแรก! รัฐบาลพม่าเปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรีด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมปรมาณู ในมหาวิทยาลัยรัฐ 3 แห่ง กรุยทางให้ผู้เรียนจบสามารถไปต่อระดับปริญญาโทได้ในสถาบันการศึกษาของรัสเซีย

เมื่อวันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน 2566 ดร.อ่องเซยะ รองรัฐมนตรี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พม่า ได้กล่าวระหว่างเปิดเทศกาลวิทยาศาสตร์ 2023 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงย่างกุ้ง โดยระบุว่า ปีการศึกษา 2566-2567 นี้ เป็นปีแรกที่กระทรวงศึกษาธิการของพม่าได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรีด้านปรมาณูขึ้นในสถาบันอุดมศึกษาที่เน้นการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยี 3 แห่ง

โดยเนื้อหาที่เปิดสอน ประกอบด้วย เทคโนโลยีปรมาณู กับวิศวกรรมปรมาณู นอกจากนี้ ยังมีแผนระยะยาวให้ผู้ที่เรียนจบปริญญาตรีสาขาปรมาณูจากพม่า มีโอกาสไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ในสถาบันการศึกษาของสหพันธรัฐรัสเซียได้อีกด้วย

การเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีของสถาบันอุดมศึกษาพม่า เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่ยืนยันว่า รัฐบาลทหารของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ตั้งใจนำเทคโนโลยีปรมาณูมาใช้หลังจากการรัฐประหาร ที่ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธาน SAC และนายกรัฐมนตรีพม้า ได้แสดงเจตจำนงชัดเจนออกมาอย่างต่อเนื่องว่า จะร่วมมือกับรัสเซียนำพลังงานปรมาณูมาใช้อย่างสันติในหลายด้าน เช่น การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การผลิตยารักษาโรค การเกษตร อาหาร รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานปรมาณู

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เป็นสักขีพยานในการเซ็น MOU ระหว่าง ดร.มิวเตงจ่อ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับอเล็กซี ลีคาเชฟ ผู้อำนวยการใหญ่ ROSATOM เพื่อร่วมจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีพลังงานปรมาณูขึ้นในกรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ระหว่างเดินทางเยือนกรุงมอสโก พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้ไปดูงานที่บริษัทรอสอะตอม (ROSATOM) หน่วยงานด้านพลังงานปรมาณูของรัสเซีย และได้เซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในนามรัฐบาลพม่า กับ ROSATOM ที่จะร่วมกันนำพลังงานปรมาณูเข้ามาใช้

ถัดจากนั้น ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ระหว่างการเยือนกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ดร.มิวเตงจ่อ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ลงนามกับตัวแทน ROSATOM ในข้อตกลงที่จะร่วมมือกันจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีปรมาณูขึ้นในพม่า

ตามข่าวที่ถูกเผยแพร่ในพม่าเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ระบุว่า วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีปรมาณูขึ้นครั้งนี้ เพื่อใช้ศึกษา สร้างแบบจำลองการใช้พลังงานปรมาณูเพื่อสันติในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นต่อสังคม

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้เป็นสักขีพยานในการเซ็น MOU ระหว่าง ดร.มิวเตงจ่อ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับอเล็กซี ลีคาเชฟ ผู้อำนวยการใหญ่ ROSATOM เพื่อร่วมกันจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีพลังงานปรมาณูขึ้นในกรุงย่างกุ้ง ก่อนที่ล่าสุด เพิ่งมีการเปิดเผยถึงการเปิดหลักสูตรปริญญาตรีด้านปรมาณูในสถาบันอุดมศึกษา 3 แห่งของพม่าขึ้นในครั้งนี้.


กำลังโหลดความคิดเห็น