xs
xsm
sm
md
lg

นักวิเคราะห์ชี้อินเดีย ‘ปากว่าตาขยิบ’ อ้างวิตกวิกฤตพม่า แต่พบยังขายอาวุธให้รัฐบาลทหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR ออนไลน์ - บริษัทต่างๆ ในอินเดียกำลังจัดหาอาวุธให้รัฐบาลทหารของพม่า ขณะที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของแดนภารตะแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตทางการเมืองในพม่าในเวทีระหว่างประเทศ ผู้สังเกตการณ์กล่าว และย้ำถึงธรรมชาติของยุทธศาสตร์แบบสองหน้า

กลุ่มสิทธิมนุษยชน Justice for Myanmar รายงานในเดือน มิ.ย.ว่า บริษัท Bharat Electronics Limited หรือ BEL ผู้ผลิตอาวุธสัญชาติอินเดีย ได้โอนยุทโธปกรณ์ทางทหารมูลค่ามากกว่า 5.1 ล้านดอลลาร์ให้กองทัพพม่า หรือบริษัท Alliance Engineering Consultancy และบริษัท Mega Hill General Trading ที่ทราบกันว่าเป็นนายหน้าค้าอาวุธของพม่า ในช่วง 6 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ย.2565 จนถึงเดือน เม.ย.2566

อาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร ยังรวมถึงโดมโซนาร์โลหะ ทรานสดิวเซอร์ และวัสดุสำหรับโดมที่ใช้กับเรือฟรีเกต เรือรบ หรือเรือดำน้ำ ระบบเกียร์ เอกสารทางเทคนิค อุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการส่งสัญญาณวิทยุ หรืออุปกรณ์เรดาร์ และวิทยุเคลื่อนที่สำหรับการสื่อสารในสนามรบ

Justice for Myanmar ระบุว่า การขนส่งสินค้าเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการสนับสนุนของอินเดียต่อกองทัพพม่าและอุตสาหกรรมอาวุธภายในประเทศของตน และเรียกร้องให้พันธมิตรของอินเดียใช้อำนาจของพวกเขากดดันอินเดียให้ยุติการจัดหาอาวุธ สินค้าและเทคโนโลยีแบบใช้สองทางแก่รัฐบาลทหาร รวมถึงระหว่างการเยือนสหรัฐฯ และฝรั่งเศสของโมดีในปีนี้

การขายอาวุธเกิดขึ้นแม้กระทั่งในขณะที่โมดีและประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ออกคำแถลงร่วมหลังการพบหารือที่ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายลงในพม่า และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองของประเทศ

ตัน โซ นาย นักวิเคราะห์การเมือง ชี้ให้เห็นถึงการปากว่าตาขยิบของอินเดียที่ด้านหนึ่งขายอาวุธให้รัฐบาลทหาร ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็กล่าวว่าเป็นกังวลถึงสถานการณ์ในพม่า

เขาระบุว่า อินเดียวางตัวเป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้งในพม่า และเมินเฉยหรือแม้กระทั่งจับกุมผู้ลี้ภัยที่หลบหนีการสู้รบข้ามพรมแดน

“แต่ในเวทีระหว่างประเทศ เมื่อออกคำแถลงในฐานะประเทศประชาธิปไตย อินเดียใช้คำว่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งมันไม่สมเหตุสมผล เป็นรัฐบาลที่สนับสนุนทางอ้อมต่ออาชญากรรมที่กระทำโดยทหารพม่าด้วยการจงใจเพิกเฉยอาชญากรรมเหล่านั้น” ตัน โซ นาย กล่าว

รายงานของ Justice for Myanmar มีขึ้นหลัง ทอม แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า ออกรายงานในเดือน พ.ค. ที่ระบุว่ารัฐบาลทหารนำเข้าอาวุธและวัตถุดิบมูลค่าอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อผลิตอาวุธ ในระหว่างวันที่ 1 ก.พ.2564 ที่เกิดรัฐประหาร จนถึงเดือน ธ.ค.2565

กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า รัฐบาลทหารกำลังใช้อาวุธเหล่านั้นกับประชาชนชาวพม่า รวมถึงโจมตีกลุ่มติดอาวุธและพลเรือนที่ต่อต้านการปกครอง

อย่างไรก็ตาม รัสเซีย จีน และสิงคโปร์ยังคงเป็นแหล่งอาวุธหลักจนถึงตอนนี้ โดยรายงานของสหประชาชาติพบว่า หน่วยงานของอินเดียหลายแห่ง รวมถึงหน่วยงานของรัฐได้โอนอาวุธและวัสดุที่เกี่ยวข้องมูลค่า 51 ล้านดอลลาร์ ให้รัฐบาลทหารในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่มูลค่าของรัสเซียอยู่ที่ 406 ล้านดอลลาร์ จีน 267 ล้านดอลลาร์ และสิงคโปร์ 254 ล้านดอลลาร์.




กำลังโหลดความคิดเห็น