xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตพลังงานเวียดนามกระทบธุรกิจท้องถิ่น-นักลงทุนต่างชาติ หอการค้าจี้แก้ไขหากยืดเยื้ออาจคิดย้ายฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ฤดูร้อนที่ร้อนจัดและความแห้งแล้งอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกำลังทำให้แหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าในภาคเหนือของเวียดนามตึงเครียดหนัก ส่งผลให้เกิดการตัดไฟเป็นระยะ และไฟฟ้าดับอย่างกะทันหัน ซึ่งนำไปสู่ความสูญเสียอย่างนับไม่ถ้วนต่อบริษัทท้องถิ่นและผู้ผลิตต่างชาติ

เวียดนามเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานสำหรับบริษัทที่มีความสำคัญที่สุดของโลกหลายราย ซึ่งในจำนวนนั้นประกอบด้วยบริษัทซัมซุง และบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ ที่มีโรงงานอยู่ในภาคเหนือของประเทศ ไม่ไกลจากกรุงฮานอย เมืองหลวง

การดำเนินงานในโรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากไฟฟ้าดับเป็นเวลานาน ตามการเปิดเผยของผู้นำธุรกิจ ที่บางรายได้รับแจ้งเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีการแจ้งเตือนเลย

“เราถูกตัดไฟนาน 26 ชั่วโมง เราสูญเงินหลายหมื่นดอลลาร์วันนั้น ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องดีเลย” หวู จิ เฮียว ผู้อำนวยบริษัท KingBill XNK ของเวียดนาม ที่ผลิตชิ้นส่วนอะลูมิเนียมใน จ.บั๊กนีง กล่าว

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายพื้นที่ทางตอนเหนือที่หลายแห่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมสำคัญ ได้รับแจ้งให้ลดการใช้พลังงานลงครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้หอการค้าญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรป ต้องร้องเรียนต่อรัฐบาลให้หาทางแก้ไขวิกฤตโดยเร็ว

ซุซุมุ โยชิดะ จากหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นกล่าวกับเอเอฟพีว่า ความเสียหายโดยตรงจากไฟฟ้าดับเพียงครั้งเดียวที่ส่งผลกระทบถึงผู้ผลิต 5 ราย ในนิคมอุตสาหกรรม มีมูลค่ามากกว่า 190,000 ดอลลาร์

“ส่วนความเสียหายโดยรวมของนิคมอุตสาหกรรมในภาคเหนือของเวียดนามดูเหมือนไม่สามารถนับได้” โยชิดะ กล่าว

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ต้องต่อสู้กับคลื่นความร้อนหลายระลอกนับตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. ที่อุณหภูมิพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่แม่น้ำและอ่างเก็บน้ำของเขื่อนไฟฟ้าเริ่มเหือดแห้ง

เวียดนามพึ่งพาการผลิตพลังงานจากน้ำเกือบครึ่งหนึ่งของพลังงานที่ต้องการทั้งหมด แต่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 11 แห่งในภาคเหนือและภาคกลาง การผลิตหยุดชะงักลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

สถานีผลิตไฟฟ้า 2 ใน 3 แห่งของเขื่อน Thac Ba ที่เป็นหนึ่งในเขื่อนใหญ่ที่สุดในเวียดนาม หยุดการทำงานแล้ว

“ปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าเกิดขึ้นแล้วและจะรุนแรงขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือไปจนถึงต้นเดือน ก.ค.” เหวียน ก๊วก จึง รองผู้อำนวยการ ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าแห่งชาติเวียดนาม ระบุ เตือนถึงปัญหาในการประชุมหารือในกรุงฮานอยเมื่อสัปดาห์ก่อน

ที่เมืองท่าไฮฟอง หลายสมาคมที่เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการเดินเรือสินค้า ที่อาศัยเครือข่ายดิจิทัลเพื่อประสานงานการจัดส่งและต้องการพลังงานเพื่อควบคุมอุปกรณ์ขนถ่าย ได้ยื่นร้องเรียนการไฟฟ้าเวียดนาม

สำหรับไฟฟ้าดับในแต่ละครั้งที่กินเวลานานกว่า 6 ชั่วโมง บริษัทต่างๆ อาจต้องชดเชยเรือที่จอดรอ ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเทียบท่าสูงถึง 50,000 ดอลลาร์ และยังต้องเผชิญกับค่าปรับสำหรับความล่าช้าในการจัดส่งสินค้า สมาคมระบุในคำแถลงสาธารณะ

เกาหลีใต้ นักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ยังร้องเรียนเรื่องไฟฟ้าดับ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการผลิตอย่างมาก

“ปัญหาไฟฟ้าดับจะเป็นเรื่องร้ายแรงมาก ไม่เพียงแต่กับบริษัทที่ลงทุนในเวียดนามแล้วเท่านั้น แต่ยังสำหรับเราที่พยายามเรียกร้องให้นักลงทุนมาที่เวียดนามด้วย” ฮง ซุน ประธานหอการค้าเกาหลีในเวียดนาม กล่าวกับเอเอฟพี

นักลงทุนรายอื่นๆ ต่างเห็นพ้องกันว่าปัญหาไฟดับ พร้อมกับสภาพของเมืองหลวงที่มืดลงเนื่องจากปิดไฟถนนหลายแห่ง ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับเวียดนาม

“เราทราบปัญหานี้จากทั้งลูกค้าที่ดำเนินธุรกิจในเวียดนาม และลูกค้าที่กำลังต้องการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในภาคพลังงาน เป็นเรื่องที่น่ากังวลและพวกเขาตั้งคำถามว่านี่เป็นปัญหาระยะสั้นหรือปัญหาต่อเนื่อง” เควิน ฮอว์กินส์ จากสำนักงานกฎหมาย DFDL ในนครโฮจิมินห์ ที่เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าว

เป้าหมายของรัฐบาลล่าสุดที่จะลดการใช้พลังงานลง 2% ไปจนถึงปี 2568 บ่งชี้ว่าปัญหาดังกล่าวอาจยังคงอยู่

เวียดนามได้ให้คำมั่นที่จะเลิกใช้ถ่านหินในการผลิตพลังงานภายในปี 2593 ที่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ความต้องการไฟฟ้าในเวียดนามที่เติบโตอย่างรวดเร็วเพิ่มขึ้นมากกว่า 8% ต่อปีโดยเฉลี่ย ตามการระบุของคำแถลงอย่างเป็นทางการ

“การประหยัดพลังงานเป็นทางออกสำคัญและเร่งด่วนในการรักษาความมั่นคงด้านพลังงานและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” รัฐบาลระบุ

ทีโบต์ ชีรูซ์ ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมฝรั่งเศสและซีอีโอบริษัท Stolz-Miras ผู้ผลิตชิ้นส่วนเหล็ก กล่าวกับเอเอฟพีว่า โรงงานของเขาได้รับคำร้องขอให้ลดการใช้พลังงานต่อวันลง 10% ไปจนถึงปี 2568 แม้ว่าโรงงานของเขาจะตั้งอยู่ใน จ.ด่งนาย ทางตอนใต้ของประเทศก็ตาม

“เพื่อให้เป็นไปตามคำขอนั้น ผมจะต้องลดการผลิตลง เพราะโดยพื้นฐานแล้ว สิ่งที่ใช้พลังงานคือเครื่องจักรในการผลิต ไม่ใช่เรื่องดีถ้าทำแบบนั้น” ชีรูซ์ ที่จัดหาชิ้นส่วนให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่เช่น Nestle, Unilever และ Bayer กล่าว

ด้านหอการค้าญี่ปุ่นเตือนในจดหมายถึงทางการว่า หากไม่พบวิธีแก้ปัญหา บริษัทที่เป็นสมาชิกบางรายอาจคิดย้ายโรงงานผลิตออกจากเวียดนาม.








กำลังโหลดความคิดเห็น