xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านในรัฐยะไข่-รัฐชินกังวลหนัก หวั่นความช่วยเหลือฟื้นฟูผลกระทบไซโคลนโมคามาไม่ทันก่อนเข้าฤดูมรสุม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - ขณะที่ชาวบ้านในรัฐยะไข่ และรัฐชินของพม่าเริ่มซ่อมแซมความเสียหายจากอิทธิพลของไซโคลนโมคาที่พัดถล่มเมื่อสัปดาห์ก่อน ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความต้องการที่พักพิง อาหาร น้ำดื่ม และความช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างเร่งด่วนก่อนที่มรสุมตามฤดูกาลจะมาถึงก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

ไซโคลนโมคาพัดถล่มพื้นที่ชายฝั่งของบังกลาเทศ และพม่าเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ด้วยความเร็วลมสูงถึง 209 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเสียหายเกิดขึ้นรอบเมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของพม่า และถึงแม้ว่าพายุจะอ่อนกำลังลงเมื่อเคลื่อนเข้าสู่รัฐชิน ที่อยู่ลึกเข้าไป แต่ความเสียหายก็เกิดขึ้นเช่นกัน

มีประชาชนเสียชีวิตจากอิทธิพลของพายุอย่างน้อย 148 คน ในรัฐยะไข่ ที่เกิดน้ำท่วมฉับพลันและไฟฟ้าดับ หลังคาบ้านหลุดปลิวหาย และทำให้เสาสัญญาณโทรศัพท์พังโค่น ตามการรายงานของสื่อทางการพม่า ที่ยังระบุว่ามีสิ่งปลูกสร้างมากกว่า 186,000 หลังได้รับความเสียหายจากพายุลูกนี้

สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติ (UNOCHA) กล่าวว่า หน่วยงานยังคงเจรจาหารือกับเจ้าหน้าที่ในกรุงเนปีดอ เพื่อขออนุมัติแผนการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ประสบภัยพายุใน 2 รัฐ

หน่วยงานของสหประชาชาติระบุว่า พันธมิตรที่ให้ความช่วยเหลือบางส่วนที่เข้าถึงพื้นที่ได้กำลังจัดลำดับความสำคัญในการแจกจ่ายอาหารและสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่จำเป็นในพื้นที่ที่พวกเขาสามารถทำได้

กรมอุตุนิยมวิทยาของพม่าระบุเมื่อสุดสัปดาห์ คาดว่ามรสุมจะเข้าสู่พื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศในอีก 2 วันข้างหน้า ซึ่งลมมรสุมมักทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่องเป็นเวลานานบริเวณชายฝั่งอ่าวเบงกอล และตอนล่างของประเทศระหว่างเดือน มิ.ย. ถึงเดือน ก.ย.

วาย ฮุน อ่อง ที่กำกับดูแลงานบรรเทาทุกข์ใน 7 เมืองของรัฐยะไข่ ระบุว่า พวกเขาขาดแคลนวัสดุในการสร้างบ้าน รวมถึงหลังคา ผ้าใบ และตะปู และชาวบ้านหลายคนกังวลว่าพวกเขาอาจไม่มีที่พักพิงเมื่อมรสุมมาถึง

“มรสุมกำลังจะมา และชาวบ้านต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะเรื่องที่พักอาศัย เรายังต้องการอาหาร น้ำดื่ม และยารักษาโรคอย่างเร่งด่วน เราเห็นสมาชิกของ UNOCHA จัดทำรายชื่อผู้เสียชีวิตในบางเมือง แต่ยังไม่เห็นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากองค์กรระหว่างประเทศ ความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ยังไม่เพียงพอ” วาย ฮุน อ่อง กล่าว

แม้ว่ากองทัพเรือ และกองทัพอากาศของพม่าได้เริ่มส่งข้าวและความช่วยเหลืออื่นๆ แล้ว แต่ยังไปไม่ถึงพื้นที่ห่างไกล วาย ฮุน อ่อง กล่าว

พระสงฆ์รูปหนึ่งในเมืองระตีด่อง ที่อยู่ทางเหนือของเมืองสิตตะเว กล่าวว่า มีความช่วยเหลือมาถึงพื้นที่เพียงเล็กน้อย และชาวบ้านก็ต้องการที่พักพิงและน้ำดื่มอย่างเร่งด่วน

“เราไม่มีแม้แต่ผ้าใบสำหรับทำที่พัก ชาวบ้านต้องออกไปหาน้ำจากภูเขา ไกลจากหมู่บ้าน คนที่เสียบ้านเพราะพายุตอนนี้อาศัยอยู่ตามวัดและสถานที่ต่างๆ เต็มไปด้วยความกังวล” พระสงฆ์กล่าว

ด้านผู้จัดการโครงการขององค์กรสิทธิมนุษยชนชาวชิน กล่าวว่า สิ่งปลูกสร้างมากกว่า 1,700 หลัง รวมทั้งโบสถ์และโรงเรียนใน 128 หมู่บ้านในรัฐชิน ได้รับความเสียหาย

รัฐชินเป็นพื้นที่ที่มีการต่อสู้ต่อต้านการปกครองของทหาร ที่เริ่มปะทุขึ้นหลังจากกองทัพยึดอำนาจในเดือน ก.พ.2564 จากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจี การต่อสู้เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ในรัฐชินรุนแรงเป็นพิเศษ.


กำลังโหลดความคิดเห็น