xs
xsm
sm
md
lg

รายงานชี้กองทัพพม่านำเข้าอาวุธรวมมูลค่ากว่า $1,000 ล้าน นับตั้งแต่รัฐประหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - รายงานของสหประชาชาติที่เผยแพร่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า กองทัพพม่านำเข้าอาวุธและวัสดุที่เกี่ยวข้องจากรัสเซีย จีน และประเทศอื่นๆ รวมมูลค่าอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่รัฐประหารเดือน ก.พ.2564 โดยที่บางส่วนถูกนำไปใช้กระทำสิ่งโหดร้ายต่อพลเรือน

ทอม แอนดรูว์ ผู้สอบสวนอิสระของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในพม่ากล่าวว่า อาวุธต่างๆ ยังคงหลั่งไหลไปยังกองทัพพม่า แม้มีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่ากองทัพเป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำโหดร้ายป่าเถื่อน รวมถึงบางกรณีที่เทียบได้กับการก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

แอนดรูว์ได้ยกตัวอย่างของสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็นความโหดร้ายทารุณของรัฐบาลทหารคือเหตุการณ์การโจมตีทางอากาศในวันที่ 11 เม.ย.ที่กองทัพใช้เครื่องบินขับไล่ Yak-130 ของรัสเซียในงานพิธีที่ผู้เข้าร่วมเป็นฝ่ายตรงข้ามการปกครองของกองทัพราว 300 คน และยังตามมาด้วยการโจมตีของเฮลิคอปเตอร์ Mi-35 ของรัสเซียกับผู้ที่เข้าช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ โดยแอนดรูว์ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 160 คน รวมทั้งเด็กจำนวนมาก

นอกจากนี้ ปืนกลและระเบิดที่ใช้ในการโจมตีรวมถึงชิ้นส่วนและวัสดุจากบริษัทต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในสิงคโปร์ จีน และไทยด้วย แอนดรูว์กล่าวเสริม

พม่าติดพันอยู่ในความขัดแย้งเนื่องจากวิกฤตทางการเมืองที่ปลดปล่อยออกมาหลังจากกองทัพเข้ายึดอำนาจ การยึดอำนาจของกองทัพก่อให้เกิดการประท้วงอย่างกว้างขวาง ที่กองกำลังความมั่นคงเข้าปราบปรามด้วยกำลังรุนแรง และนำไปสู่การต่อต้านด้วยอาวุธทั่วประเทศที่กองทัพยังไม่สามารถปราบลงได้ แอนดรูว์ กล่าวว่า มีนักโทษการเมืองอย่างน้อย 22,000 คน ถูกควบคุมตัวตั้งแต่รัฐประหาร พลเรือนอย่างน้อย 3,500 คนถูกสังหาร และอีก 1.5 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น

รายงานดังกล่าวยังมีเอกสารประกอบเกี่ยวกับการจัดซื้อมากกว่า 12,500 รายการ ที่จัดส่งโดยตรงไปยังกองทัพพม่า หรือผู้ค้าอาวุธพม่าที่ทำงานให้กองทัพตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2564 ที่กองทัพเข้าขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจี จนถึงเดือน ธ.ค.2565 แอนดรูว์ระบุในการแถลงข่าว

เขากล่าวว่า ปริมาณและความหลากหลายของอาวุธยุทโธปกรณ์ที่กองทัพได้รับนั้นน่าตกใจ ที่มีตั้งแต่เครื่องบินขับไล่  เฮลิคอปเตอร์โจมตี และโดรน ไปจนถึงระบบขีปนาวุธขั้นสูง การอัปเกรดรถถัง อุปกรณ์สื่อสารและเรดาร์ที่ซับซ้อน และส่วนประกอบสำหรับเรือของกองทัพเรือ

แอนดรูว์ กล่าวว่า เขาได้รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือและมีรายละเอียดจากแหล่งข่าวลับ ซึ่งระบุเครือข่ายและบริษัทที่เกี่ยวข้องในการค้าอาวุธกับพม่า

รายงานที่ส่งไปยังคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ระบุว่า มีอาวุธและวัสดุส่งไปยังกองทัพพม่าจากรัสเซียรวมมูลค่า 406 ล้านดอลลาร์ จากจีน 267 ล้านดอลลาร์ จากสิงคโปร์ 254 ล้านดอลลาร์ จากอินเดีย 51ล้านดอลลาร์ และจากไทย 28 ล้านดอลลาร์

นับตั้งแต่รัฐประหารรายงานระบุว่า บริษัทเอกชนและบริษัทของรัฐของรัสเซีย 28 แห่ง ได้โอนเครื่องบินขับไล่และชิ้นส่วนอะไหล่ระบบขีปนาวุธชั้นสูง โดรนสอดแนมและโจมตี เฮลิคอปเตอร์โจมตี และระบบอื่นๆ ไปยังรัฐบาลทหาร

รายงานระบุว่า บริษัทเอกชนและบริษัทของรัฐ 41 แห่ง ที่จดทะเบียนในจีนและฮ่องกง จัดหากองทัพพม่าด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์อุปกรณ์ และวัตถุดิบมากมายให้กองทัพพม่า ระหว่างเดือน ต.ค.2564 จนถึงเดือน ธ.ค.2565 รวมถึงเครื่องบินฝึกขั้นสูงเครื่องบินโจมตีเบา การอัปเกรดรถถัง และซ่อมแซมเครื่องบินขับไล่ของจีน ที่ใช้เป็นฝูงบินของกองทัพอากาศพม่า รายงานระบุ

พวกเขายังจัดหาอะลูมิเนียม ทองแดง เหล็ก ยาง และสารหล่อลื่นสำหรับใช้ในการผลิตอาวุธภายในประเทศของพม่า รายงานระบุ

แอนดรูว์ กล่าวว่า เขาไม่ได้รับข้อมูลที่ชี้ว่ารัฐบาลของสิงคโปร์หรือไทยอนุมัติหรือโอนอาวุธให้กองทัพพม่า ต่างไปจากรัสเซีย จีนและอินเดีย

เขากล่าวว่าบริษัทในสิงคโปร์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อรัฐบาลทหาร ที่ได้จัดหาชิ้นส่วนอะไหล่ วัตถุดิบ และอุปกรณ์การผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับโรงงานอาวุธ KaPaSa ของพม่า ขณะที่บริษัทของไทยก็ทำเช่นเดียวกัน รายงานระบุ

รายงานระบุว่าบริษัทไทย 12 แห่งก่อตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร หลายแห่งเกิดขึ้นจากการคว่ำบาตรเครือข่ายอาวุธที่ดำเนินการอยู่ในสิงคโปร์ ที่ชี้ว่าผู้ค้าอาวุธอาจมองว่าไทยเป็นอีกทางเลือกเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ รายงานระบุ

แอนดรูว์ กล่าวว่า สิงคโปร์มีนโยบายห้ามโอนอาวุธไปยังพม่าและเขาได้รายงานข้อค้นพบดังกล่าวต่อรัฐบาล และทางการสิงคโปร์ระบุว่าพวกเขากำลังทบทวนประสิทธิภาพการควบคุมการส่งออกของประเทศ

“หากรัฐบาลสิงคโปร์หยุดการจัดส่งอาวุธทั้งหมดไปยังกองทัพพม่า ผลกระทบต่อความสามารถของรัฐบาลทหารในการผลิตอาวุธจะมีนัยสำคัญ” แอนดรูว์ กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น