xs
xsm
sm
md
lg

ยอดดับจากไซโคลนโมคาซัดถล่มรัฐยะไข่ของพม่าพุ่งเป็นอย่างน้อย 41 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ยอดผู้เสียชีวิตในหมู่บ้านที่ถูกไซโคลนพัดถล่มในรัฐยะไข่ของพม่าเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 41 คน วันนี้ (16) ตามการเปิดเผยของผู้นำท้องถิ่น

ด้วยกระแสลมแรงถึง 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไซโคลนโมคาขึ้นฝั่งในวันอาทิตย์ (14) ทำเสาไฟฟ้าโค่นล้มระเนระนาด เรือประมงพังเสียหายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย

“เราสามารถยืนยันได้แล้วว่ามีผู้เสียชีวิต 17 คน คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากยังมีผู้สูญหายมากกว่าร้อยคน” คาร์โล ผู้ดูแลหมู่บ้านบูมา ใกล้เมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ กล่าวกับนักข่าวของเอเอฟพีจากพื้นที่ โดยหมู่บ้านดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา

นอกจากยอดผู้เสียชีวิตจากหมู่บ้านบูมาแล้ว เอเอฟพียังได้รับแจ้งยอดผู้เสียชีวิตอีก 24 คนจากหมู่บ้านของดอกคาร์ ที่เป็นหมู่บ้านชาวโรฮิงญาที่อยู่ใกล้เคียง

รัฐบาลทหารกล่าวในวันจันทร์ (15) ว่า มีผู้เสียชีวิต 5 คน โดยไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าคนเหล่านั้นเสียชีวิตที่ใด

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่ายอดผู้เสียชีวิตของรัฐบาลทหารได้รวมถึงผู้เสียชีวิตจากหมู่บ้านบูมา และหมู่บ้านของดอกคาร์ด้วยหรือไม่

เอเอฟพีได้ติดต่อโฆษกรัฐบาลทหารเพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับยอดผู้เสียชีวิตใหม่

ในหมู่บ้านบูมาในเช้าวันอังคาร (16) ชาวบ้านเดินไปตามชายหาดเพื่อค้นหาสมาชิกในครอบครัวที่ถูกคลื่นพายุซัดฝั่งจากพายุไซโคลนซัดหายไป นักข่าวของเอเอฟพีระบุ

ทั้งนี้ ชาวโรฮิงญาถูกมองว่าเป็นผู้บุกรุกเข้ามาในพม่า โดยพวกเขาถูกปฏิเสธสถานะพลเมืองและการรักษาพยาบาล รวมทั้งต้องได้รับอนุญาตในกรเดินทางออกจากหมู่บ้านของตนเองในรัฐยะไข่

หลายคนอาศัยอยู่ในค่ายพักหลังต้องพลัดถิ่นเนื่องจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในรัฐนี้มานานหลายทศวรรษ

สำนักงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติกล่าวว่ากำลังตรวจสอบรายงานที่ว่าชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นเสียชีวิตจากพายุ

“UNHCR รู้สึกเสียใจที่ได้ยินรายงานการเสียชีวิตในค่ายผู้พลัดถิ่นในรัฐยะไข่ จากผลพวงของไซโคลนโมคา” UNHCR ระบุในคำแถลง

หน่วยงานของสหประชาชาติยังระบุว่า กำลังพยายามประเมินค่ายผู้พลัดถิ่นและพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ได้ภาพของสถานการณ์ที่ชัดเจนขึ้น

ในวันอังคาร (16) เจ้าหน้าที่กำลังทยอยกู้การติดต่อสื่อสารในเมืองสิตตะเว ที่เป็นที่อยู่อาศัยของประชากรราว 150,000 คน นักข่าวของเอเอฟพีระบุ ถนนหลายสายกำลังเก็บกวาดทำความสะอาด และเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้กลับมาใช้งานได้ 

ในวันจันทร์ (15)​ สื่อของรัฐเผยภาพที่แสดงให้เห็นกองกำลังทหารกำลังขนถ่ายความช่วยเหลือลงจากเครื่องบินที่สนามบินสิตตะเว

แต่ชาวบ้านโรฮิงญากล่าวกับเอเอฟพีว่าพวกเขายังไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ

“ไม่มีรัฐบาล ไม่มีองค์กรใดๆ มาที่หมู่บ้านของเรา เราไม่ได้กินอะไรมา 2 วันแล้ว เรายังไม่ได้รับอะไรเลย ไม่มีใครมาถามเลยด้วยซ้ำ” จ่อ ซา วิน จากหมู่บ้านบูมา กล่าว.


















กำลังโหลดความคิดเห็น