xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใช้ “ท่าเรือซิตต่วย” 9 พ.ค.นี้ เชื่อมเส้นทางการค้า “พม่า-อินเดีย” ถึงกัลกัตตา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ท่าเรือขนส่งสินค้าซิตต่วย รัฐยะไข่ (ภาพจากสำนักข่าว Development Media Group)
MGR Online - ท่าเรือสินค้าซิตต่วย 1 ใน 3 ส่วนหลักของโครงการขนส่งหลายรูปแบบคาลาดาน เชื่อมเส้นทางการค้าพม่า-อินเดีย มูลค่า 484 ล้านดอลลาร์ เตรียมเปิดใช้อย่างเป็นทางการ 9 พฤษภาคมนี้ ชี้เป็นท่าเรือสากลแห่งแรกที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐยะไข่

อู อ่อง อ่อง ประธานสหพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรม รัฐยะไข่ เปิดเผยว่า วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ที่จะถึงนี้ จะมีพิธีเปิดใช้ท่าเรือขนส่งสินค้าซิตต่วยอย่างเป็นทางการ โดยการต้อนรับเรือสินค้าลำแรกที่ได้ออกเดินทางจาก Netaji Subhas Dock ท่าเรือกัลกัตตา ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม และมีกำหนดการเทียบท่ายังท่าเรือสินค้าซิตต่วย ในวันที่ 9 พฤษภาคม

รัฐบาลอินเดียเป็นฝ่ายสนับสนุนงบประมาณ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับก่อสร้างท่าเรือขนส่งสินค้าซิตต่วย ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ส่วนหลักของโครงการ “ขนส่งหลายรูปแบบคาลาดาน”(Kaladan Multi-Modal Transit Transport Project : KMTT) โครงข่ายคมนาคมเพื่อสนับสนุนการค้าระหว่างพม่าและอินเดีย มูลค่าโครงการรวม 484 ล้านดอลลาร์

โครงการขนส่งหลายรูปแบบคาลาดาน
รัฐบาลพม่าและอินเดียได้ลงนามกรอบความร่วมมือ KMTT ไว้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 โดยโครงการแบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย

1.เชื่อมการขนส่งทางน้ำระหว่างท่าเรือขนส่งสินค้าซิตต่วย รัฐยะไข่ บริเวณปากแม่น้ำคาลาดาน กับท่าเรือกัลกัตตาของอินเดีย ระยะทาง 420 ไมล์ทะเล
2.เชื่อมการขนส่งในภาคพื้นทวีปผ่านแม่น้ำคาลาดาน จากท่าเรือซิตต่วย สู่เมืองปะแลตวะ ทางตอนใต้ของรัฐชิน ระยะทาง 160 กิโลเมตร
3.สร้างถนนเชื่อมเมืองปะแลตวะ ข้ามชายแดนรัฐชิน ไปสู่เมือง Aizawl รัฐมิโซรัม ของอินเดีย ระยะทางประมาณ 169 กิโลเมตร

โครงการ KMTT เริ่มต้นก่อสร้างในปี 2560 ก่อนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งการสร้างท่าเรือขนส่งสินค้าในเมืองซิตต่วย และถนนจากเมืองปะแลตวะข้ามชายแดนเข้าไปในรัฐมิโซรัม มีความคืบหน้าไปมากแล้ว อย่างไรก็ตาม หลังการรัฐประหาร ข่าวความเคลื่อนไหวของโครงการนี้ปรากฏออกมาไม่มากนัก

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2565 Bibekananda Bhattamishra กงสุลใหญ่อินเดีย ประจำรัฐยะไข่ ได้จัดประชุมกลุ่มนักธุรกิจในรัฐยะไข่ ที่โรงแรมรอยัล ซิตต่วย รีสอร์ท ผู้เข้าประชุม ประกอบด้วย ตัวแทนและผู้บริหารของสมาคมผู้ค้าและผู้ประกอบการอาระกัน สมาคมขนส่งสินค้าทางทะเล สมาคมผู้ค้าข้าวอาระกัน นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนนักธุรกิจรุ่นใหม่ เจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของรัฐยะไข่อีกหลายคน

Bibekananda Bhattamishra ได้บอกถึงความคืบหน้าของท่าเรือขนส่งสินค้าซิตต่วยว่า การก่อสร้างใกล้เสร็จสมบูรณ์ พร้อมเปิดให้บริการแก่เรือขนส่งสินค้าขนาดบรรทุก 5,000-6,000 ตันแล้ว

อู อ่อง อ่อง ประธานสหพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรม รัฐยะไข่ บอกว่า ท่าเรือซิตต่วย เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศแห่งแรกของรัฐยะไข่ หลังจากท่าเรือแห่งนี้เปิดใช้งานจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการในรัฐยะไข่ และมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจของรัฐยะไข่ให้ดีขึ้น.


กำลังโหลดความคิดเห็น