xs
xsm
sm
md
lg

ตร.ลาวยัน “แจ็ค อานุซา” ยังไม่ตาย ชี้ปมถูกยิงจากขัดแย้งธุรกิจหรือชู้สาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ซ้าย) ภาพแจ็ค อานุซา ขณะรักษาตัว ซึ่งประธานโจได้โพสต์ลงไปในเพจ “ขับเคลื่อนด้วยคีย์บอร์ด” เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 บอกว่าแจ็คยังไม่ตาย (ขวา) โพสต์ของประธานโจเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 บอกว่าแจ็คต้องไม่ตายฟรี
MGR Online - ตำรวจเวียงจันทน์แถลงยืนยัน “แจ็ค อานุซา” แอดมินเพจฝีปากกล้า “ขับเคลื่อนด้วยคีย์บอร์ด” ยังไม่ตาย กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล พร้อมเร่งสืบสวนหาสาเหตุการยิง คาดมาจาก 2 ปม ขัดแย้งทางธุรกิจ หรือปัญหาชู้สาว

วันนี้ (5 พ.ค.) พ.อ.อุบน จุนละมะนี รองหัวหน้ากองบัญชาการ ป้องกันความสงบ (ปกส.) นครหลวงเวียงจันทน์ แถลงข่าวกรณีเหตุยิงกันที่บ้านดงเหมี้ยง เมืองจันทะบูลี เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา โดยผู้ถูกยิงชื่อ ท้าวอานุซา หลวงสุพม ชื่อเล่นว่าแจ็ค อายุ 24 ปี เชื้อชาติและสัญชาติลาว

พ.อ.อุบน แถลงว่า กรณีนี้กองบัญชาการ ปกส. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการลงตรวจสอบเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุ รวมถึงสืบสวน สอบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อหาสาเหตุการยิง โดยเบื้องต้นคาดว่าเกิดจากความขัดแย้งทางธุรกิจ หรือปัญหาชู้สาว

รองหัวหน้ากองบัญชาการ ปกส. นครหลวงเวียงจันทน์ ยืนยันว่า ขณะนี้ผู้ถูกยิงยังมีชีวิตอยู่ ไม่ได้เสียชีวิตอย่างที่เป็นข่าว โดยหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้รีบนำตัวท้าวแจ็ค อานุซา ส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่ปัจจุบัน ท้าวแจ็ค อานุซา ยังคงอยู่ในอาการบาดเจ็บ ไม่สามารถให้การต่อเจ้าหน้าที่ได้

พ.อ.อุบน จุนละมะนี รองหัวหน้ากองบัญชาการ ปกส. นครหลวงเวียงจันทน์
ท้าวแจ็ค อานุซา ใช้ชื่อในเครือข่ายออนไลน์ว่า Jack Anousa เป็นแอดมินเพจ “ขับเคลื่อนด้วยคีย์บอร์ด” ซึ่งมีผู้ติดตาม 3.5 หมื่นคน โดยเพจแห่งนี้เป็นแหล่งรวมของกลุ่มคนที่ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลลาว และมักนำเสนอเนื้อหาในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ติติงการทำงานของรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง

หน้าปกของเพจ “ขับเคลื่อนด้วยคีย์บอร์ด” ใช้ภาพเหตุการณ์ในประเทศไทย ที่มีผู้ไปพ่นสีใส่กำแพงวัดพระแก้ว แต่เปลี่ยนตัวอักษรเป็นภาษาลาวว่า “เชื่อฟังพรรค รัฐ แล้วจะเป็นสุข” ส่วนภาพโปรไฟล์ใช้พื้นเป็นสีส้ม เขียนตัวอักษรว่า “ขับเคลื่อนด้วยคีย์บอร์ด เพื่อให้ลาวอยู่รอด ไม่เป็นทาสจีน”

ก่อนหน้านี้ ช่วงบ่ายของวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เพจข่าวจากสื่อทางการของรัฐบาลลาว เช่น สำนักข่าวสารประเทศลาว กับหนังสือพิมพ์ลาวพัฒนา ได้สำเสนอคลิปเหตุยิงกันครั้งนี้แบบละเอียด ไม่มีการเซ็นเซอร์

ภาพในคลิปเห็นมือปืนเปิดประตูเข้าไปในร้านที่มีคนกำลังนั่งคุยกันอยู่ 3 คน เป็นชาย 1 คน และหญิงอีก 2 คน จากนั้นใช้อาวุธปืนสั้นยิงใส่เข้าไปที่ผู้ชาย 2 นัด จนล้มลง มือปืนตะโกนบอกกับผู้หญิงว่า “อย่ายุ่ง” และเดินออกไปจากร้านอย่างใจเย็น จากนั้นมีเสียงผู้หญิงตะโกนเรียกชื่อแจ็ค และบอกให้อีกคนรีบโทรศัพท์แจ้งตำรวจ

คำบรรยายในคลิประบุว่า เหตุยิงกันครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน หน่วยกู้ชีพนครหลวงเวียงจันทน์ 1624 ได้รับแจ้งเหตุคนถูกยิงที่บ้านดงเหมี้ยง เมืองจันทะบูลี ผู้ถูกยิงมีรอยกระสุนเข้าที่แก้มขวาทะลุแก้มซ้าย และที่ชายโครงด้านขวา ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียเลือดมาก เจ้าหน้าที่ได้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และรีบนำตัวส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล 150 เตียง

ต่อมา สื่อและชุมชนออนไลน์หลายแห่งในลาวเผยแพร่ข้อมูลว่า เหยื่อผู้ถูกยิงคือ ท้าวแจ็ค อานุซา แอดมินเพจ “ขับเคลื่อนด้วยคีย์บอร์ด” และได้เสียชีวิตแล้ว โดยบนไทม์ไลน์ของเพจ “ขับเคลื่อนด้วยคีย์บอร์ด” ยังมีโพสต์แสดงความไว้อาลัยต่อการจากไปของท้าวแจ็ค อานุซา ด้วย

โพสต์ล่าสุดของประธานโจเมื่อวานนี้ (4 พ.ค.) เป็นบัญชีธนาคารสำหรับสมทบทุนช่วยค่ารักษาพยาบาลแจ็ค
วันรุ่งขึ้น (2 พ.ค.) บัญชีเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อ Joseph Akaravong ได้โพสต์ลงเพจ “ขับเคลื่อนด้วยคีย์บอร์ด” กระตุ้นอารมณ์ผู้ติดตามเพจว่า “แจ็คต้องไม่ตายฟรี” จากนั้น ได้โพสต์ลิงก์ของสำนักข่าว BBC ที่นำเสนอข่าวการเสียชีวิตของแจ็ค โดยเขียนว่า ตอนนี้สื่อระดับโลกได้ลงมาติดตามเรื่องนี้แล้วอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม วัดถัดมา (3 พ.ค.) Joseph Akaravong ได้โพสต์ภาพของท้าวแจ็คที่กำลังนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เขียนว่า “ขอแจ้งให้ทุกคนทราบว่า ขณะนี้ แจ็คยังมีชีวิตอยู่ ส่วนที่ครอบครัวของแจ็คบอกกับทุกคนว่า แจ็คเสียชีวิตแล้วนั้น เพราะอยากให้คนที่มาลอบฆ่าแจ็คคิดว่าแจ็คตายแล้ว จะได้ไม่มาสังหารแจ็คอีก แต่ปัจจุบันปิดข่าวไม่ได้แล้ว”

เมื่อวานนี้ (4 พ.ค.) Joseph Akaravong ได้โพสต์ลงไปในเพจ “ขับเคลื่อนด้วยคีย์บอร์ด” อีกครั้ง เป็นภาพของแจ็คที่กำลังนอนรักษาตัวอยู่ พร้อม QR code และหมายเลขบัญชีธนาคาร ระบุว่าตนได้โอนเงินช่วยค่ารักษาพยาบาลแจ็คไปแล้ว 5 ล้านกีบ และใครที่อยากช่วยค่ารักษาพยาบาลแจ็ค สามารถโอนเงินเข้าไปได้ตามเลขบัญชีที่ให้ไว้

สำหรับ Joseph Akaravong เป็นที่รู้จักกันในหมู่คนลาวที่ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลในชื่อ “ประธานโจ” ซึ่งมักแสดงความคิดเห็นเชิงติติง วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลลาว โดยที่เจ้าตัวไม่ได้อยู่ในลาว แต่พำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส.


กำลังโหลดความคิดเห็น