xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติร้องญี่ปุ่นคว่ำบาตร-ตัดแหล่งรายได้รัฐบาลทหารพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ญี่ปุ่นควรคว่ำบาตรพม่าเหมือนที่ทำกับรัสเซียจากการรุกรานยูเครน ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติกล่าว พร้อมประณามความป่าเถื่อน และการกดขี่ของรัฐบาลทหาร

โทมัส แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า ยังเรียกร้องให้ญี่ปุ่นยุติโครงการฝึกทหารพม่าในทันที และเตือนว่าพวกเขากำลังทำให้ภาพลักษณ์ของกองทัพเสื่อมเสีย

พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลของอองซานซูจี ในเดือน ก.พ.2564 ที่ก่อให้เกิดการสู้รบในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ

การโจมตีทางอากาศในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในพื้นที่ที่มีการต่อต้านอย่างหนักในเดือนนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 170 คน ตามการรายงานของสื่อ และคนท้องถิ่น

“สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่าเลวร้ายและย่ำแย่ลงไปอีก” แอนดรูว์กล่าวกับนักข่าวในกรุงโตเกียว หลังสิ้นสุดการเดินทางพบหารือกับเจ้าหน้าที่และธุรกิจของญี่ปุ่น

“ผมขอเรียกร้องให้ญี่ปุ่นพิจารณาเข้าร่วมกลุ่มประเทศ G7 อื่นๆ ในการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรกับกองทัพพม่าและแหล่งรายได้สำคัญของพวกเขา เช่นเดียวกับที่ดำเนินการตอบโตวิกฤตในยูเครน” แอนดรูว์ กล่าว

มาตรการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลทหารจะทำให้ศักยภาพในการโจมตีประชาชนอ่อนแอลง” แอนดรูว์ กล่าวเสริม และกล่าวหาว่ากองทัพป่าเถื่อนและกดขี่

ญี่ปุ่นระงับโครงการช่วยเหลือใหม่หลังการรัฐประหาร แต่โครงการที่มีอยู่เดิมไม่ได้รับผลกระทบ

กระทรวงกลาโหมระบุในเดือน ก.ย.ว่าจะไม่รับทหารชุดใหม่เข้าร่วมโครงการที่ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ทหารของพม่า

แต่แอนดรูว์วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจอนุญาตให้ทหารที่อยู่ในโครงการฝึกจนจบ

“พวกเขากำลังได้รับการฝึกการต่อสู้และเรียนรู้วิธีการเป็นทหารและผู้บัญชาการที่มีประสิทธิภาพ และจะกลับไปเป็นทหารที่รับผิดชอบการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงคราม ตราบใดที่กระทรวงกลาโหมยังคงฝึกทหารพม่า กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นจะถูกเชื่อมโยงกับรัฐบาลทหารที่โหดร้าย” แอนดรูว์ กล่าว

ญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ยาวนานกับพม่า และเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่ ตลอดจนแหล่งการลงทุนก่อนการรัฐประหาร

แอนดรูว์กล่าวว่า เขาได้ร้องขอให้ญี่ปุ่นเปลี่ยนเส้นทางการเงินที่จะเข้าสู่โครงการช่วยเหลือใหม่ๆ ไปเป็นทุนในการปันส่วนอาหารสำหรับผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในบังกลาเทศ

โรฮิงญาราว 1 ล้านคนในบังกลาเทศ ส่วนใหญ่มาถึงหลังการปราบปรามของทหารพม่าในปี 2560

การปันส่วนอาหารถูกปรับลดลง 17% เมื่อเดือนก่อน และตอนนี้กำลังเผชิญกับการปรับลดเพิ่มขึ้นอีก 20% ทำให้เด็กชาวโรฮิงญาตกอยู่ในความเสี่ยง แอนดรูว์ ระบุ

ธุรกิจญี่ปุ่นบางแห่ง รวมถึงบริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่อย่างคิริน ได้ถอนตัวออกจากพม่าแล้ว แต่แอนดรูว์กล่าวว่า ยังมีบริษัทอีกหลายแห่งที่ยังคงร่วมมือกับหุ้นส่วนที่รับใช้รัฐบาลทหาร หรือขายการดำเนินงานให้บริษัทที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลทหาร

แอนดรูว์กล่าวว่า ประชาคมระหว่างประเทศโดยรวมกำลังทำให้ประชาชนชาวพม่าผิดหวัง

“ความจริงก็คือสถานการณ์ต่างๆ กำลังย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็ว และนั่นหมายความว่าเราต้องประเมินการดำเนินการของเราใหม่” แอนดรูว์ ระบุ.
กำลังโหลดความคิดเห็น