xs
xsm
sm
md
lg

กล้องวิดีโอนักข่าวญี่ปุ่นที่ถูกสังหารในพม่ากลับคืนสู่ครอบครัวหลังสูญหายกว่า 15 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - กล้องวิดีโอที่หายไปนานกว่า 15 ปี หลังจากนักข่าวชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งทำตกไว้และถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการชุมนุมประท้วงบนท้องถนนในพม่า ได้ถูกส่งมอบให้น้องสาวของเขาในพิธีที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อวันพุธ (26)

เคนจิ นากาอิ กำลังบันทึกภาพการชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2550 ในย่านใจกลางเมืองย่างกุ้ง ที่เป็นส่วนหนึ่งของการลุกฮือต่อต้านทหารอย่างสันติ หรือที่เรียกว่าการปฏิวัติผ้าเหลือง ซึ่งทหารได้เดินทางมาถึงและเข้าสลายฝูงชนด้วยการยิงปืน นักข่าววัย 50 ปี ที่ทำงานให้เอเอฟพี นิวส์ ของญี่ปุ่น ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บจนเสียชีวิต ซึ่งเขาเป็นหนึ่งใน 10 คน ที่เสียชีวิตในวันนั้น

โนริโกะ โอกาวะ น้องสาวของนากาอิ รับกล้องวิดีโอขนาดเล็กยี่ห้อโซนี่จาก เอ จัน นาย หัวหน้าสำนักข่าว Democratic Voice of Burma องค์กรสื่อของพม่าที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำกล้องกลับคืนมา

โอกาวะกล่าวว่า เธอขอขอบคุณจากก้นบึ้งของหัวใจ สิ่งนี้เป็นเรื่องอัศจรรย์และน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับเธอ เนื่องจากเธอไม่เคยมีข้อมูลเกี่ยวกับกล้องมาก่อนจนกระทั่งตอนนี้

การส่งมอบกล้องวิดีโอดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่พม่าตกอยู่ในภาวะวิกฤตที่เลวร้ายกว่าปี 2550 การต่อต้านด้วยอาวุธอย่างมุ่งมั่นและกว้างขวางเกิดขึ้นเพื่อตอบโต้การโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจี โดยกองทัพในปี 2564

ตามข้อมูลของนักข่าวในพม่าระบุว่า เพื่อนร่วมอาชีพในพื้นที่ของพวกเขา 3 คน ถูกเจ้าหน้าที่สังหารนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจ และอีกกว่า 150 คน ถูกควบคุมตัว นอกจากนี้ ยังมีนักข่าวต่างประเทศอีกจำนวนหนึ่งถูกควบคุมตัวและถูกส่งตัวกลับในเวลาต่อมา

กล้องที่พบยังคงมีเทปต้นฉบับอยู่ด้านใน และเนื้อหาของเทปถูกฉายในงานส่งมอบ

ภาพที่บันทึกไว้เผยให้เห็นผุ้ชุมนุมประท้วงและพระสงฆ์บนถนนใกล้เจดีย์สุเล ในย่างกุ้ง ที่กำลังร้องเพลงและสวดมนต์ ขณะที่ตำรวจขวางทางพวกเขา หลังจากนั้นรถบรรทุกที่เต็มไปด้วยทหารก็มาถึง ทำให้นากาอิหันกล้องเข้าหาตัวเอง

“กองทัพมาถึงแล้ว ตรงนั้น นั่นคือกองทัพ ผมคิดว่ามีอาวุธหนัก ที่หน้าวัดเต็มไปด้วยผู้คน คนรวมตัวกันที่หน้าพระพุทธรูป รถบรรทุกทหารอาวุธหนักมาถึงแล้ว” นากาอิ กล่าว

จากนั้นภาพก็ปรากฏให้เห็นผู้คนกระจัดกระจาย วิดีโอถูกตัดไปก่อนถึงช่วงเวลาเลวร้าย

อย่างไรก็ตาม วิดีโอที่บันทึกโดยสำนักข่าว Democratic Voice of Burma จับภาพวินาทีการเสียชีวิตของนากาอิไว้ได้ เขาล้มลงและจากนั้นดูเหมือนเขาถูกทหารยิงในระยะใกล้ ภาพถ่ายของเหตุการณ์ที่ถ่ายโดย Adrees Latif ของสำนักข่าวรอยเตอร์ชนะรางวัลพูลิตเซอร์ปี 2551

รายละเอียดที่แน่ชัดว่ากล้องของนากาอิถูกพบเมื่อใด อย่างไร และถูกเก็บไว้ที่ใดในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมายังคงคลุมเครือ เอ จัน นาย กล่าวเพียงว่ากล้องถูกส่งผ่านมาหลายคนก่อนออกมาจากพม่า

“ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย เราไม่สามารถลงลึกถึงวิธีที่เรานำออกมา สิ่งที่เราสามารถบอกคุณได้คือเราได้รับผ่านพลเมืองดีที่ทราบว่าอะไรถูกอะไรผิด และนั่นเป็นวิธีที่เราได้มา” เอ จัน นาย กล่าว






น้องสาวของนากาอิ กล่าวว่า เธอหวังว่าการวิเคราะห์เทปดังกล่าวจะหักล้างคำกล่าวอ้างของรัฐบาลพม่าที่ระบุว่าเขาไม่ได้ตกเป็นเป้าอย่างตั้งใจ

“ฉันจะนำกล้องและเทปนี้กลับไปญี่ปุ่น และขอยืนยันว่านี่คือสิ่งที่พี่ชายถือไว้จนถึงวาระสุดท้าย ตรวจสอบรายละเอียดของข้อมูลและชี้แจงสิ่งที่พี่ชายต้องการบอก และความจริงถึงสาเหตุการตายของเขา ฉันหวังว่าจะสามารถหักล้างคำกล่าวอ้างของกองทัพพม่าที่ว่าการเสียชีวิตของพี่ชายของฉันเป็นอุบัติเหตุ” โนริโกะ โอกาวะ กล่าว

ในบทความความคิดเห็นของสื่อที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพม่าไม่ถึง 1 เดือนหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้กล่าวโทษนากาอิต่อการตายของเขา โดยระบุว่าเป็นเพราะเขาทำให้ตัวเองตกอยู่ในอันตราย

“นักข่าวชาวญี่ปุ่นทำให้ตนเองเผชิญกับจุดจบอันน่าเศร้า ด้วยการเข้าไปอยู่ท่ามกลางผู้ชุมนุมประท้วง แน่นอนว่า นักข่าวชาวญี่ปุ่นถูกยิงโดยไม่ตั้งใจ เขาพบกับจุดจบอันน่าเศร้าเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่าเขาอยู่ร่วมกับผู้ชุมนุมประท้วงในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม ในเวลาที่ไม่เหมาะสม” บทความความคิดเห็นของสื่อพม่าระบุ

บทความยังตำหนิว่านากาอิเข้าประเทศด้วยวีซ่าท่องเที่ยว ไม่ใช่วีซ่านักข่าว เนื่องจากวีซ่านักข่าวได้มายากมากในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วง

ชอว์น คริสพิน จากคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าวที่มีสำนักงานในนิวยอร์ก กล่าวว่าอันตรายสำหรับนักข่าวในพม่ายังคงมีอยู่

“งานวันนี้มีความสำคัญและเกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะสม เป็นสิ่งเตือนใจว่ากองทัพพม่ายังคงสังหารนักข่าวโดยไม่ต้องรับโทษ” คริสพิน ที่เข้าร่วมในงานวันพุธกล่าว

“และการสังหารจะไม่ยุติจนกว่าการตายของเคนจิจะได้รับความยุติธรรมอย่างสมบูรณ์ จากคนลั่นไก จากผู้บัญชาการในวันนั้นที่ออกคำสั่งให้จับตาย ไปจนถึงผู้นำทหารที่ควบคุมการปราบปรามอย่างรุนแรงถึงชีวิตในวันนั้น” คริสพิน กล่าว.




กำลังโหลดความคิดเห็น