เอเอฟพี - บัน คี-มุน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้กองทัพพม่ายุติความรุนแรงในประเทศที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และมีส่วนร่วมกับฝ่ายตรงข้ามเพื่อยุติวิกฤตนองเลือด
พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่ทหารขับไล่รัฐบาลของอองซานซูจี ผู้นำพลเรือนที่ถูกโค่นล้มในเดือน ก.พ.2564 ที่ก่อให้เกิดการสู้รบทั่วประเทศ และทำให้เศรษฐกิจประเทศตกต่ำ
ความพยายามทางการทูตที่จะแก้ไขวิกฤตได้หยุดชะงักลง ด้วยรัฐบาลทหารเมินเฉยต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของนานาชาติเกี่ยวกับการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างโหดเหี้ยม และปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมกับฝ่ายตรงข้าม
“กองทัพต้องเริ่มต้นก่อน” บัน คี-มุน กล่าวหลังเดินทางเยือนพม่าเป็นเวลา 2 วัน ที่เขาได้พบหารือกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง
บันยังกล่าวว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ รัฐบาลเงาที่ก่อตั้งขึ้นโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรคของซูจี ที่กำลังดำเนินการเพื่อล้มล้างการรัฐประหาร จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
กองทัพไม่ได้แสดงความประสงค์ที่จะมีส่วนร่วมกับฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ที่ถูกกำหนดให้เป็นองค์กรก่อการร้าย
กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่ารัฐบาลทหารสังหารหมู่ เผาหมู่บ้าน และใช้การโจมตีทางอากาศและการยิงปืนใหญ่ลงโทษชุมชนที่ต้องสงสัยว่าเป็นที่พักของฝ่ายตรงข้าม
การโจมตีทางอากาศของกองทัพในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในพื้นที่ที่มีการต่อต้านอย่างรุนแรงในเดือนนี้ ได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 170 คน ตามการรายงานของสื่อและชาวบ้าน
รัฐบาลทหารสร้างความชอบธรรมให้การยึดอำนาจของพวกเขาด้วยข้อกล่าวหาที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีการโกงเลือกตั้งในปี 2563 การเลือกตั้งที่พรรคของซูจีชนะอย่างถล่มทลาย และได้ให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่
“การจัดการเลือกตั้งภายใต้สภาพเงื่อนไขในปัจจุบันเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงและความแตกแยกเพิ่มมากขึ้น และผลการเลือกตั้งจะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนชาวพม่า” บัน คี-มุน กล่าว
คำแถลงไม่ได้ระบุว่าบันได้ขอพบซูจีหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันซูจีกำลังรับโทษจำคุก 33 ปี จากความผิดในหลายข้อหาที่กลุ่มสิทธิมนุษชนกล่าวว่าเป็นเรื่องหลอกลวง
การเยือนพม่าของอดีตเลขาธิการสหประชาชาติผู้นี้ถูกรายงานขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์โกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ ของรัฐในวันอังคาร แต่รายงานไม่ได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องของบัน ที่ขอให้มีการเจรจาและยุติความรุนแรง
เขา และ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความคืบหน้าล่าสุดของพม่า และหารืออย่างจริงใจด้วยทัศนคติที่สร้างสรรค์ รายงานในหนังสือพิมพ์ระบุ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นเพิ่มเติม
บัน คี-มุน เยือนพม่าในฐานะสมาชิกของกลุ่มผู้นำโลก “The Elders” ที่ก่อตั้งขึ้นโดยเนลสัน แมนเดลา ที่ทำงานเพื่อส่งเสริมสันติภาพและคลี่คลายความขัดแย้ง.