xs
xsm
sm
md
lg

‘บัน คี-มุน’ อดีตนายใหญ่ UN โผล่เยือนพม่า พบหารือเจ้าหน้าที่ระดับสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - บัน คี-มุน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ เดินทางถึงพม่าแล้วตามการรายงานของสื่อของรัฐวันนี้ (24) ในขณะที่ความขัดแย้งนองเลือดในประเทศทวีความรุนแรงขึ้น

ความพยายามทางการทูตเพื่อยุติวิกฤตที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารในปี 2564 ของกองทัพได้หยุดชะงักลง โดยรัฐบาลทหารเมินเฉยต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติต่อการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างโหดเหี้ยม และปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมกับฝ่ายตรงข้าม

สื่อของพม่าไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเยือนพม่าของบัน คี-มุน แต่เขาเป็นสมาชิกของกลุ่มผู้นำโลก ‘The Elders’ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยเนลสัน แมนเดลา ที่ทำงานเพื่อส่งเสริมสันติภาพและคลี่คลายความขัดแย้ง

โกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ สื่อของทางการพม่ารายงานว่า บัน คี-มุน และคณะของเขาเดินทางถึงกรุงเนปีดอเย็นวานนี้ทางเครื่องบิน โดยเขาได้พบหารือกับรัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหม และกระทรวงการต่างประเทศ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมใดๆ

ส่วนรายงานข่าวทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐได้แพร่ภาพที่เผยให้เห็น บัน คี-มุน โบกมือให้กล้องขณะเดินทางถึงสนามบิน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่ง

บัน คี-มุน ที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีใต้ เดินทางไปพม่าหลายครั้งในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ และประสบความสำเร็จในการเจรจากับนายพลพม่าในระดับต่างๆ

ในปี 2552 เขาเดินทางเยือนพม่าเพื่อกดดันผู้นำรัฐบาลทหารในขณะนั้น คือ นายพลตาน ฉ่วย ให้ปล่อยตัวอองซานซูจี แต่นายพลปฏิเสธความพยายามของเขาที่จะเข้าเยี่ยมซูจี

ในปี 2559 เมื่อซูจีออกจากคุก และทำหน้าที่เป็นผู้นำพลเรือนโดยพฤตินัย เขากลับมาให้การสนับสนุนการผลักดันของซูจีที่จะลงนามข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์จำนวนมากในประเทศ

ซูจีถูกควบคุมตัวอีกครั้งในช่วงเริ่มต้นของการรัฐประหารปี 2564 ที่ทำให้ประเทศตกอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายและทำให้เศรษฐกิจเป็นอัมพาต

โนลีน เฮย์เซอร์ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยพม่าได้ร้องขอเข้าพบซูจีระหว่างเยือนพม่าในเดือน ส.ค.2565 แต่กองทัพปฏิเสธคำขอดังกล่าว และเฮย์เซอร์ได้ให้คำมั่นในเวลาต่อมาว่าเธอจะไม่กลับมาเยือนประเทศนี้อีก เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้พบกับซูจี

รัฐบาลทหารยุติการพิจารณาคดีกับซูจีในเดือน ธ.ค. โดยซูจีถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลารวมทั้งสิ้น 33 ปี ในกระบวนการที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนประณามว่าเป็นเรื่องหลอกลวง.
กำลังโหลดความคิดเห็น