MGR ออนไลน์ - ลาวที่มีเป้าหมายจะเป็น ‘แบตเตอรี่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ผลิตไฟฟ้าจำนวนมากผ่านเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำหลายแห่งของประเทศ แต่ค่าไฟฟ้าสำหรับพลเมืองกลับยังคงสูง ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งภาระท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสำหรับผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก และบางหมู่บ้านยังคงขาดแคลนไฟฟ้า
ลาวส่งออกไฟฟ้าพลังน้ำไปประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา พม่า ตลอดจนมาเลเซีย และแม้กระทั่งสิงคโปร์ เพื่อช่วยประเทศเหล่านั้นตอบสนองความต้องการด้านพลังงานไฟฟ้าที่ขยายตัวขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่การปล่อยมลพิษมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ลาวที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลได้สร้างเขื่อนหลายสิบแห่งบนแม่น้ำโขง และลำน้ำสาขาภายใต้แผนการที่จะขายไฟฟ้าประมาณ 20,000 เมกะวัตต์ให้ประเทศเพื่อนบ้านภายในปี 2573 และยังมีเขื่อนอีกหลายแห่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง รวมทั้งเขื่อนแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้กับเมืองหลวงพระบาง แต่ไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนใหญ่จะถูกส่งขายให้ไทย
พลเมืองของลาวในเวลานี้เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการสร้างเขื่อนและแผนในอนาคต เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถจ่ายค่าไฟฟ้าได้
“อัตราค่าไฟฟ้าสูงเกินกว่าที่คนทั่วไปจะจ่ายได้ เขื่อนที่สร้างขึ้นในลาวส่งผลกระทบต่อประชาชนลาว ดังนั้น พลังงานที่ได้ไม่ควรคิดค่าใช้จ่ายหรือตั้งราคาให้ถูกสำหรับทุกคน” ผู้อยู่อาศัยในแขวงหลวงพระบางรายหนึ่งกล่าว
ผู้อยู่อาศัยรายนี้ยังกล่าวว่า เขาต้องการให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการสร้างเขื่อน เพื่อที่ไม่เพียงแค่สร้างรายได้ให้ประเทศที่ค่อนข้างยากจนแห่งนี้ แต่ยังช่วยเหลือประชาชนจากการกำหนดค่าไฟฟ้าในอัตราที่ประชาชนสามารถจ่ายได้
การไฟฟ้าลาว (EDL) กิจการของรัฐที่ตั้งอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ที่ดำเนินการผลิตไฟฟ้าและจัดการการนำเข้าและส่งออกไฟฟ้าของประเทศ ได้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าสำหรับผู้อยู่อาศัยประมาณ 1.5% ต่อปี ระหว่างปี 2556-2561
ในปี 2565 และปี 2566 การไฟฟ้าลาวขึ้นค่าไฟฟ้า 2% ทำให้ชาวลาวทั่วไปที่มีรายได้เดือนละประมาณ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐ จ่ายค่าไฟได้ยากมากขึ้น
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ค่าไฟฟ้ายังคงสูงเป็นเพราะรัฐบาลเป็นหนี้ต่างชาติจำนวนมากในการสร้างเขื่อนไฟฟ้า รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของลาวกล่าว และระบุว่ามากกว่า 2 ใน 3 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันถูกส่งออก
“เขื่อนที่สร้างในลาวด้วยเงินที่กู้ยืมมาเป็นทรัพย์สินของประเทศและของประชาชน ถ้าจ่ายหนี้จากโครงการผลิตไฟฟ้าไม่ได้ สิ่งนี้จะถูกส่งต่อไปยังคนรุ่นหลัง” ผู้อยู่อาศัยในนครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว กล่าว
รายงานของธนาคารโลกในเดือน พ.ค.2565 ระบุว่าการกู้ยืมเงินจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมีส่วนทำให้ระดับหนี้ของประเทศเพิ่มขึ้น กระทบเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค
รายงานระบุว่า ระดับหนี้สาธารณะของลาวเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 2562 แตะระดับ 88% ของจีดีพีในปี 2564 โดยภาคพลังงานมีสัดส่วนมากกว่า 30% ของหนี้ทั้งหมดของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีแผนที่จะผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนที่ 75% และผลิตจากถ่านหิน 14% ภายในปี 2568 โดยการผลิตส่วนที่เหลือจะมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ตามการระบุของกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่
ผู้อยู่อาศัยจากแขวงจำปาสักกล่าวว่า เขาหมดหวังที่รัฐบาลจะลดค่าไฟฟ้าให้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ประเทศเผชิญอยู่ ค่าเงินที่อ่อนค่าลง และการทุจริตในรัฐวิสาหกิจ
“ผู้ให้บริการไฟฟ้าของลาวมักพูดว่าจะลดค่าไฟให้ชาวลาว แต่จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีการปรับลดเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและความไม่มีเสถียรภาพของเศรษฐกิจในประเทศ” ชาวลาวรายหนึ่ง กล่าว
การไฟฟ้าลาวกล่าวว่าหน่วยงานได้เพิ่มอัตราการเข้าถึงระบบไฟฟ้าเป็นประมาณ 95% ของครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากประมาณ 30% ก่อนปี 2543 แต่บางคนกล่าวว่าตัวเลขดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะชาวบ้านในชนบทเกือบทั้งหมดยังไม่มีไฟฟ้าใช้
“ชาวบ้านในชนบทไม่มีไฟฟ้าใช้เพราะพวกเขากระจายอยู่ทั่วประเทศ และการต่อสายไฟฟ้าไปทุกหมู่บ้านมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป” พนักงานของการไฟฟ้าลาวรายหนึ่ง เผย.