xs
xsm
sm
md
lg

“พม่า-อินเดีย” เตรียมใช้ “จั๊ต-รูปี” ซื้อขายโดยตรงผ่านการค้าชายแดน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การประชุมของธนาคารกลางพม่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566
MGR Online - แบงก์ชาติพม่าประชุมวางแผนใช้เงินสกุลท้องถิ่น “จั๊ต-รูปี” ในการค้าชายแดนกับอินเดีย เพื่อเลี่ยงการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ หลังเริ่มใช้จั๊ต-หยวน และจั๊ต-บาท ในการค้ากับจีนและไทยมาก่อนหน้านี้แล้ว

วันที่ 4 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางพม่า (The Central Bank of Myanmar : CBM) ได้จัดประชุมเตรียมการเพื่อจะนำเงินสกุลท้องถิ่น “จั๊ต-รูปี” มาเป็นสื่อกลางโดยตรงสำหรับค้าชายแดนระหว่างพม่าและอินเดีย เช่นเดียวกับที่ได้อนุญาตให้เงิน “จั๊ต-หยวน” ในค้าชายแดนพม่า-จีน และ “จั๊ต-บาท” กับการค้าชายแดนพม่า-ไทย ไปก่อนแล้วในปี 2565 เพื่อหลีกเลี่ยงและสงวนการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ

การประชุมครั้งนี้ มี ดอ ตานตานส่วย ผู้ว่าการ CBM เป็นประธาน มีผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ของรัฐ และธนาคารพาณิชย์เอกชน กว่า 50 รายเข้าร่วม

ที่ประชุมได้พิจารณาผลการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเป็นสื่อกลางในการค้าขายกันระหว่างพม่า-จีน และพม่า-ไทย ในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนพิจารณาเอกสารผลการศึกษาเรื่องการใช้เงินจั๊ต-รูปี เพื่อค้าขายกันโดยตรง ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากธนาคารกลางอินเดีย (The Reserve Bank of India) มาแล้ว และได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อวางระบบการแลกเปลี่ยนเงินจั๊ตและรูปี ก่อนจะเริ่มให้มีการใช้จริง

คณะทำงานชุดนี้ ประกอบด้วย ตัวแทนจาก CBM กระทรวงการต่างประเทศพม่า กระทรวงวางแผนและการคลังพม่า กระทรวงพาณิชย์พม่า ธนาคาพาณิชย์ของรัฐในพม่า ธนาคารกลางอินเดีย Punjab Nation Bank และสำนักงานตัวแทนธนาคารพาณิชย์อินเดียในกรุงย่างกุ้ง

ยังไม่มีการกำหนดว่าจะเริ่มให้ใช้เงินจั๊ต-รูปี โดยตรงสำหรับการค้าชายแดนระหว่างพม่ากับอินเดียเมื่อใด อย่างไรก็ตาม คาดว่าธนาคารกลางของทั้ง 2 ประเทศจะแต่งตั้งให้ Punjab Nation Bank เป็นธนาคารสำหรับชำระบัญชีเงินจั๊ตกับเงินรูปี

ด้านชายแดน “ตามู-โมเร”
การค้าชายแดนระหว่างพม่าและอินเดียมีช่องทางหลักที่ด่านตามู ในภาคสะกาย ด้านตรงข้ามในฝั่งอินเดีย เป็นด่านโมเร ในรัฐมณีปุระ

ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงพาณิชย์พม่า ระบุว่า มูลค่าการค้าชายแดนที่ด่านตามู-โมเร ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565-2566 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 มียอดรวม 16.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในนี้เป็นยอดส่งออกสินค้าจากพม่าไปอินเดีย 10.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยอดนำสินค้าจากอินเดียมาเข้ามาในพม่า 6.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ.


กำลังโหลดความคิดเห็น