xs
xsm
sm
md
lg

‘มินอ่องหล่าย’ ลั่นเดินหน้าปราบกลุ่มต่อต้านให้สิ้นก่อนจัดเลือกตั้งตามสัญญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ท่ามกลางขบวนรถถังและเครื่องยิงจรวด หัวหน้าคณะรัฐบาลทหารพม่าได้ให้คำมั่นสัญญาในวันนี้ (27) ว่าจะไม่ยุติการปราบปรามฝ่ายต่อต้าน และยืนยันว่ากองทัพจะจัดการเลือกตั้ง คำประกาศที่เกิดขึ้นหลายสัปดาห์หลังจากยอมรับว่ากองทัพยังไม่สามารถควบคุมดินแดนได้มากพอที่จะอนุญาตให้มีการจัดการเลือกตั้ง

พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจีเมื่อ 2 ปีก่อน หลังอ้างเหตุผลว่ามีการโกงการเลือกตั้ง

การรัฐประหารก่อให้เกิดการต่อสู้ครั้งใหม่กับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) หลายสิบกลุ่ม ที่ก่อตัวขึ้นเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเวลานี้เต็มไปด้วยการสู้รบและเศรษฐกิจที่พังทลาย

กองทัพจะใช้ ‘มาตรการขั้นเด็ดขาด’ กับฝ่ายต่อต้านและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่สนับสนุนคนเหล่านั้น พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวกับผู้เข้าชมพิธีสวนสนามแสดงแสนยานุภาพของกองทัพพม่าเนื่องในวันกองทัพที่กรุงเนปีดอ

“การกระทำที่เป็นการก่อการร้ายของ NUG และลูกสมุนที่เรียกว่า PDF ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด” พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าว โดยอ้างถึงรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ถูกขับไล่จากการรัฐประหาร และกำลังทำงานเพื่อล้มล้างการรัฐประหาร

จากนั้นรัฐบาลทหารจะจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมเมื่อการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลง ผู้นำคณะรัฐบาลทหารระบุ

เมื่อเดือนที่ผ่านมา กองทัพได้ประกาศขยายเวลาประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มอีก 6 เดือน และเลื่อนการเลือกตั้งที่สัญญาว่าจะจัดขึ้นในเดือน ส.ค. เนื่องจากกองทัพยังไม่สามารถควบคุมพื้นที่ของประเทศได้มากพอสำหรับการจัดการเลือกตั้ง

“ความสงบและเสถียรภาพเป็นสิ่งสำคัญก่อนที่จะจัดการเลือกตั้งใดๆ ก็ตาม” พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวในพิธี

เครื่องบินบินอยู่เหนือศีรษะปล่อยควันสีเหลือง แดง และเขียว ที่เป็นสีของธงชาติ และเครื่องบินขับไล่ Sukoi Su-30 และ Yak ที่ผลิตในรัสเซีย ส่งเสียงคำรามขณะบินผ่าน

วันกองทัพพม่าเป็นวันที่รำลึกถึงเหตุการณ์ที่ชาวพม่าเริ่มต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และมักจะมีการจัดการสวนสนามโดยเจ้าหน้าที่ และนักการทูตต่างชาติเข้าร่วมชม

ผู้ชุมนุมประท้วงราว 160 คน ถูกสังหารในความรุนแรงตามการระบุของกลุ่มสังเกตการณ์ท้องถิ่น ที่ก่อให้เกิดการประณามจากนานาชาติอย่างกว้างขวาง

กลุ่มสิทธิมนุษยชนและฝ่ายต่อต้านได้กล่าวหาว่าทหารจุดไฟเผาหมู่บ้าน และใช้การโจมตีทางอากาศและปืนใหญ่เพื่อลงโทษฝ่ายต่อต้าน

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวตำหนิการวิพากษ์วิจารณ์และการประณามรัฐบาลทหาร โดยกล่าวหาว่าบางประเทศสนับสนุนผู้ก่อการร้าย

เจ้าหน้าที่จากรัสเซียและจีน ที่เป็นพันธมิตรและผู้จัดหาอาวุธให้รัฐบาลทหาร เข้าร่วมชมพิธีสวนสนามวันนี้ (27) รวมถึงอินเดียที่ส่งตัวแทนมาเข้าร่วมงานเช่นกัน

นิวเดลีปกป้องความสัมพันธ์ของประเทศกับรัฐบาลทหาร โดยระบุว่า อินเดียไม่สามารถหลีกเลี่ยงการติดต่อกับเพื่อนบ้านได้เนื่องจากปัญหาข้ามพรมแดน

ด้านสหรัฐฯ ประกาศบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่เมื่อวันศุกร์ โดยพุ่งเป้าไปที่การจัดหาเชื้อเพลิงเครื่องบินของรัฐบาลทหาร

ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวเมื่อต้นเดือนว่า 2 ปี หลังการรัฐประหาร สถานการณ์ในพม่าเป็นหายนะที่ลุกลาม และเสริมว่ากองทัพดำเนินการปฏิบัติการโดยไม่ต้องรับโทษใดๆ

ความพยายามทางการทูตที่จะคลี่คลายวิกฤตนองเลือดนำโดยสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เจ้าหน้าที่พม่ากล่าวว่า มี 7 ประเทศจาก 10 ประเทศในกลุ่มส่งตัวแทนเข้าร่วมพิธี รวมทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารมากที่สุด

ประชาชนมากกว่า 3,100 คน ถูกสังหารในการปราบปรามผู้เห็นต่างของกองทัพนับตั้งแต่การรัฐประหาร ตามการระบุของกลุ่มสังเกตการณ์ท้องถิ่น ขณะที่สหประชาชาติระบุว่ามีประชาชนมากกว่า 1 ล้านคนกลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากการสู้รบ

ในเดือน ธ.ค. รัฐบาลทหารได้สรุปการพิจารณาคดีของซูจี ซึ่งเธอต้องโทษจำคุกเป็นระยะเวลารวมทั้งสิ้น 33 ปี ในกระบวนการที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนประณามว่าเป็นเรื่องหลอกลวง.




























กำลังโหลดความคิดเห็น