xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ในพม่าขอปักกิ่งช่วยคลี่คลายวิกฤตหลังรัฐประหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - พันธมิตรของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์พม่าที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนเรียกร้องให้ปักกิ่งช่วยคลี่คลายวิกฤตนองเลือดหลังการรัฐประหารกำลังทำลายประเทศ

จีนเป็นพันธมิตร และผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่ให้รัฐบาลทหารที่ถูกนานาประเทศโดดเดี่ยว และปฏิเสธที่จะเรียกการกระทำของทหารว่าเป็นการปฏิวัติ ที่ขับไล่รัฐบาลของอองซานซูจีเมื่อ 2 ปีก่อน

นักวิเคราะห์ระบุว่า ปักกิ่งยังสนับสนุนและติดอาวุธให้กลุ่มกบฏชาติพันธุ์หลายกลุ่มตามแนวชายแดนพม่า ซึ่งบางกลุ่มปะทะกับกองทัพบ่อยครั้งหลังการรัฐประหาร

คณะกรรมการเจรจาและปรึกษาทางการเมืองแห่งสหพันธรัฐ (FPNCC) เป็นการรวมตัวกันของ 7 กลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีนักรบติดอาวุธที่ได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดีรวมกันแล้วหลายหมื่นนาย

“เรายินดีและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของจีนที่จะยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพม่า” FPNCC กล่าว หลังการประชุมในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของพรรคสหรัฐว้า (UWSP)

ด้วยมีกองกำลังประจำการราว 25,000 นาย กองกำลังของ UWSP ถือเป็นหนึ่งในกองทัพที่ไม่ใช่ของรัฐที่ใหญ่ที่สุดในโลก

แม้คำแถลงของ FPNCC จะไม่ได้ให้รายละเอียดว่าการมีส่วนร่วมของปักกิ่งแบบใดที่พวกเขาสนับสนุน แต่คำแถลงระบุว่า กลุ่มพันธมิตรจะทำงานร่วมกับรัฐบาลจีนต่อไปเพื่อปรับปรุงเสถียรภาพของพื้นที่ชายแดน

การสู้รบที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ตามแนวชายแดนก่อนการรัฐประหารทำให้ผู้คนหลายพันคนต้องหลบหนีเข้าไปในฝั่งจีน และนักวิเคราะห์กล่าวว่า เมื่อไม่นานนี้ ปักกิ่งเพิ่งกดดันกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ทางตอนเหนือให้อยู่ห่างจากความขัดแย้งหลังการรัฐประหาร

แต่สมาชิกของ FPNCC หลายคนได้ให้ที่พักและฝึกอาวุธแก่กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ที่ผุดขึ้นทั่วประเทศเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร

เมื่อปีที่ผ่านมา การโจมตีทางอากาศของกองทัพที่ถล่มงานคอนเสิร์ตของกองกำลัง KIA ในรัฐกะฉิ่น ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 50 คน และได้รับบาดเจ็บมากกว่า 70 คน กลุ่มติดอาวุธระบุ

หลายโครงการในโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของปักกิ่งวางแผนที่จะตัดผ่านพื้นที่ทางตอนเหนือของพม่า เชื่อมมณฑลหยุนหนานของจีน ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลกับมหาสมุทรอินเดีย

ผู้แทนพิเศษว่าด้วยกิจการพม่าของจีนได้พบหารือกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย อย่างน้อย 2 ครั้ง นับตั้งแต่เขาได้รับการแต่งตั้งในเดือน ธ.ค. และยังได้พบหารือกับผู้นำกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ด้วย

นอกจากนี้ นักการทูตของปักกิ่งกำลังเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยระหว่างพม่าและบังกลาเทศในโครงการนำร่องส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับประเทศ หลังจากหลบหนีการปราบปรามของทหารพม่าในปี 2560 โดยเอกอัครราชทูตปักกิ่งประจำกรุงธากากล่าวกับนักข่าวเมื่อวันอังคารว่าการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศจะเริ่มขึ้นในเร็วๆ นี้ .


กำลังโหลดความคิดเห็น